วันก่อนมีคุณผู้อ่านท่านหนึ่งพาลูกวัยรุ่นมัธยมต้นมารับคำปรึกษากับครูเคท เพราะลูกเครียดจัดและกรีดข้อมือที่โรงเรียน โชคดีที่แผลไม่ลึก เมื่อได้พูดคุยกัน น้องบอกว่ารู้สึกเครียดมาก ทั้งเรื่องเรียน เรื่องเพื่อน และเรื่องพ่อแม่ ได้คุยกับเพื่อนถึงความเครียด แต่เพื่อนๆ ไม่เข้าใจและบอกว่าเรื่องเล็กน้อย อย่าเก็บไปเครียดเลย ทำให้ข้างในใจน้องยิ่งเครียดมากขึ้น เพราะไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของตน ประกอบกับเมื่อสัปดาห์ก่อน มีเพื่อนคนหนึ่งเครียดเรื่องแฟนและได้กรีดข้อมือตัวเองเช่นกัน น้องเลยลองกรีดดูบ้าง เมื่อกรีดแล้ว น้องบอกว่ารู้สึกดีขึ้น ความเครียดลดลง
พฤติกรรมทำร้ายตัวเองของมนุษย์ คนที่ไม่เข้าใจก็มักจะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีเหตุผล บางส่วนก็มองว่าคนที่ทำ ทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ แต่จริงๆ แล้วเป็นความเจ็บปวดภายในใจที่มักจะเกิดสะสมมาจนถึงจุดที่เรียกว่าน้ำล้นแก้ว แต่คนคนนั้นอาจไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในใจของตน เพราะเรื่องที่กระตุ้นให้ต้องทำร้ายตัวเองอาจเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ได้ แต่ความเจ็บปวดสะสมฝังใจข้างในมันมากจนพร้อมระเบิด บางคนรู้สึกเจ็บปวดแต่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้แค่รู้สึกเจ็บลึกๆ หรืออึดอัด เมื่อไม่รู้ว่าความรู้สึกนั้นมันคืออะไรและไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร จึงเริ่มทำร้ายตัวเองด้วยการจิก กัด ทุบตี กรีด ฯลฯ เพื่อทำให้ความเจ็บปวดนั้นปรากฏออกมาบนร่างกายให้ตัวเองรับรู้ได้ และจิตของคนเรานั้น เมื่อเข้าใจว่าความรู้สึกที่เกิดอะไรขึ้นกับตัวเองคืออะไร จิตของเราจะทำการบำบัดตัวเองและคลายเครียดทันที เหมือนกับการที่เรากลุ้มใจ พอได้เข้าใจหรือคลิกกับเรื่องนั้นแล้ว เราก็จะหายเครียดได้ในทันที
บางคนไม่ได้ทำร้ายร่างกายตนเอง แต่มักทำร้ายจิตใจตนเองซ้ำๆ ด้วยการจมดิ่งอยู่ในปัญหาเดิมๆ ไม่ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่าไม่เจ็บ แต่ความเจ็บปวดที่ได้จากปัญหานั้นๆ มันไม่เจ็บรุนแรงเหมือนความเจ็บปวดที่สะสมเอาไว้ จึงยอมที่จะเจ็บปวดใจซ้ำๆ ดีกว่าการเผชิญหน้ากับรากของความเจ็บปวด เช่น คนที่มีปมปัญหากับพ่อแม่ในวัยเด็กที่สะสมมาเป็นเวลานาน เมื่อโตขึ้นมักจะพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เจ็บปวดกับคนรักและยอมเจ็บซ้ำๆ เพราะความเจ็บปวดจากคนรักยังพอสัมผัสได้ เข้าใจได้ แต่ความเจ็บปวดสะสมจากครอบครัวมันลึกมากจนไม่สามารถอธิบาย หรือเข้าใจได้ว่าคืออะไร และไม่อยากขุดขึ้นมาดูด้วย เพราะรู้ว่าจะเจ็บปวดมาก บางทีคนที่ยอมเจ็บปวดซ้ำในชีวิตปัจจุบัน อาจจะกำลังบำบัดตัวเองจากแผลลึกในอดีตโดยไม่รู้ตัวก็ได้
กลับมาดูกรณีของน้องที่พูดถึงข้างต้น สาเหตุที่น้องเครียดนั้นคือ การเรียนที่หนักเกินไป จนบริหารจัดการเวลาไม่ได้ จึงกังวลว่าจะถูกครูดุหรือตัดคะแนนที่ไม่ส่งงาน และยังกลัวพ่อแม่ว่า รวมทั้งมีปัญหากับเพื่อน ฯลฯ ฟังดูเหตุผลเหล่านี้เป็นเรื่องเครียดปกติที่เด็กมัธยมมักจะเจอ แต่อะไรทำให้น้องคนนี้มีความเครียดมากกว่าเด็กคนอื่นๆ เมื่อพูดคุยกับน้องจึงพบว่าแพทเทิร์นความคิดของน้องเป็นคนมองอะไรมุมเดียว และมักตีความทุกคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นว่าคนอื่นไม่ชอบตัวเอง จึงสะสมเป็นความเครียด เช่น น้องบอกว่าครูบอกว่าใครส่งงานไม่ครบครูจะบอกผู้ปกครอง ซึ่งเรื่องนี้น้องเครียดมากและคิดต่อไปว่าเพราะตัวเองส่งงานไม่ครบ ครูก็จะมีอคติกับตัวเองด้วย ตรรกะอย่างนี้เป็นตรรกะที่พังเพราะเจ้าตัว เพราะเห็นภาพมุมเดียว เมื่อสอบถามต่อ พบว่าครูบอกนักเรียนทุกคนในห้องเพราะมีคนส่งงานไม่ครบหลายคน ไม่ได้เจาะจงที่น้องเพียงคนเดียว แต่น้องกลุ้มใจจนเครียดไปแล้วว่าครูไม่ชอบตนเอง และถ้าครูไปบอกพ่อแม่ตัวเองก็จะโดนดุ
ในยุคนี้ จะพบเคสวัยรุ่นเครียดและทำร้ายตัวเองมากขึ้น เพราะการมองโลกในมุมเดียว หรือการตัดสินทุกอย่างแค่สองด้านคือ ขาวกับดำ หรือเทา แต่ไม่สามารถคิดถึงสีอื่นๆเช่น แดง เหลือง น้ำเงินได้ จึงทำให้โลกของเขามีแต่ทางตัน พ่อแม่ผู้ปกครองควรสอนทักษะความยืดหยุ่นทางสังคมให้กับบุตรหลานด้วย ไม่ใช่รอแก้ปลายเหตุของความเครียดด้วยการทานยา
ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ.