Category: How to

ลูกชอบดนตรี แต่ไม่ยอมซ้อมดนตรี

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “…. ลูกเป็นเด็กที่ไม่เก่งวิชาการแต่พอเรียนได้ มีความถนัดแนวดนตรีกับศิลปะมากกว่าด้านวิชาการ แต่โรงเรียนของลูกเน้นวิชาการ ลูกเลยรู้สึกเหนื่อยและไม่อยากซ้อมดนตรี จะช่วยลูกยังไงดีคะ…”

เรื่องลูกเรียนไม่เก่งนี่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้พ่อแม่วิตกกังวลมาก และมุ่งแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุโดยเน้นผลลัพธ์ที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ คือ เกรดดี เรากำลังลืมมองอะไรไปอีกหลายๆ จุด หรือเปล่า เช่น ทักษะการเรียนรู้และการนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตจริง ไม่ใช่เรียนกันเข้าไปแบบความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

การที่ลูกเรียนไม่เก่ง เราต้องหาสาเหตุที่แน่ชัดให้ได้เสียก่อน สาเหตุที่เด็กเรียนไม่เก่งอาจมาจากระดับสติปัญญาต่ำ หรืออาจไม่ใช่ เด็กบางคนสติปัญญาสูง แต่มีความวิตกกังวลกับปัญหาที่บ้านหรือที่โรงเรียนทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง จำอะไรไม่ได้ พอปัญหาสะสมไม่ได้รับการแก้ไข บวกกับผลการเรียนแย่ลงเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เด็กเกิดอาการถอดใจ และเชื่อว่าตัวเองไม่ฉลาด เรียนไม่เก่ง อะไรทำนองนั้น สภาพแวดล้อมในบ้านที่อาจส่งผลต่อการเรียนของเด็กอาจหมายถึงปัญหาที่เห็นชัดเจน เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ไปจนถึงปัญหาที่มองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา เช่น ความคาดหวังของพ่อแม่หรือความวิตกกังวลของพ่อแม่ที่ไม่รู้ตัว อยากให้ลูกเรียนเก่ง อยากให้ลูกชนะหรือเป็นที่ยอมรับของคนอื่น ฯลฯ ซึ่งแรงกดดันหลายรูปแบบเหล่านี้ ทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด วิตกกังวล กลัว รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า เครียด แบกรับ จนนำไปสู่การขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้

เด็กที่เครียดหรือวิตกกังวลก็อาจหาทางออกด้วยการทำอะไรเพลินๆ เข่น งานศิลปะ เพลง เล่นเกม เป็นต้น ลองดูว่างานศิลปะและดนตรีของเขาเป็นอย่างไร (เด็กบางคนมีพรสวรรค์ด้านนี้จริง แต่บางคนแค่ชอบเพราะคลายเครียด ผู้ปกครองต้องมองให้ชัดก่อนว่าเป็นกลุ่มไหน) ถ้าลูกมีพรสวรรค์ด้านศิลปะหรือดนตรีจริง เขาจะมี passion หรือความชอบความหลงใหลงานด้านนี้อย่างเห็นได้ชัด มีการติดตามผลงานของศิลปินต่างๆ มีสมาธิในการทำงานศิลปะหรือแต่งเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรีอย่างจริงๆ จังๆ เห็นพัฒนาการของฝีมือเก่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้แสดงว่ามีพรสวรรค์จริง ก็ควรส่งเสริมไปด้านนี้เลย แต่เด็กที่ชอบศิลปะหรือเพลง เพียงแค่คลายเครียด หรือ ผ่อนคลาย เราจะไม่เห็น passion ของเขาในเรื่องนี้ แต่จะเห็นแค่ เขาชอบเล่นดนตรี ฟังเพลง ร้องเพลง วาดภาพ ถ่ายภาพ แต่งภาพ เพื่อความสนุกหรือคลายเครียด ทำสักพักก็เปลี่ยนไปชอบไปทำอย่างอื่น ไม่อินและทำสิ่งนั้นนานๆ และไม่มีกลุ่มเพื่อนที่มีพรสวรรค์คล้ายกัน

ที่คุณผู้อ่านถามมา ถ้าเด็กเป็นแบบกลุ่มหลัง ผู้ปกครองต้องหาสาเหตุแห่งความกังวลใจจนทำให้ไม่สนใจเรียนให้เจอ แล้วค่อยๆช่วยให้เขาเปิดใจกับการเรียนรู้ค่ะ อย่าหลงกับภาพเปลือก เด็กที่ชอบดนตรีจริงๆ มี passion กับดนตรีจริงๆ เขาจะซ้อมดนตรี ในเวลาที่เขามีอารมณ์อยากจะซ้อมเองค่ะ การที่ผู้ปกครองสั่งให้ซ้อมจะยิ่งทำให้เด็กเกลียดสิ่งนั้นมากขึ้น เพราะจิตใต้สำนึกของเขาจะรู้สึกว่ากำลังถูกบังคับ ถ้าผู้ปกครองยังมองเพียงแค่ผลลัพธ์ เช่น ถ้าไม่ซ้อม จะเล่นไม่ได้ แล้วก็จะโดนคุณครูว่า ผลลัพธ์อย่างนี้จะกังวลทำไมคะ สมัยเด็กๆ ครูเคทเคยเรียนเปียโน และโตขึ้นเคยเป็นครูสอนเปียโน จำได้ว่าอยากซ้อมก็ซ้อม ไม่อยากซ้อมก็ไม่ซ้อม แต่พอไปดีดให้คุณครูดู ถ้าไม่ซ้อมมาก็ดีดไม่เพราะ คุณครูก็ให้เรียนเพลงเดิมซ้ำ ไม่ขึ้นเพลงใหม่ให้ วันไหนซ้อมมาดี คุณครูชม แถมมีเพลงเพราะๆ นอกเหนือบทเรียนแถมให้ด้วย ชอบมาก จากนั้นก็รู้ด้วยตัวเองเลยว่าต้องซ้อมให้คล่อง โดยไม่ต้องมีใครมาคอยบ่นหรือสั่ง เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องฝีมืออะไรหรอกค่ะ แต่เด็กๆ จะอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น ถ้าไม่ซ้อมทำให้เล่นไม่เพราะ ก็แปลว่าอดได้เล่นเพลงใหม่ พ่อแม่ยุคนี้ดูจะวิตกกังวลกับผลลัพท์จนมองข้ามทักษะการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต การเอาตัวรอด ทำให้เด็กยุคนี้มีความเครียดสูงมาก และการเรียนรู้เป็นเรื่องที่น่าเบื่อค่ะ

สมัยที่ลูกสาวครูเคทเรียนเปียโน ครูเคทก็ไม่เคยสอนลูก แม้ว่าแม่จะเคยเป็นครูสอนเปียโน แต่จะปล่อยให้เขาเรียนกับคุณครูเอง บริหารจัดการการเรียนการซ้อมตามอารมณ์ของเขาเอง ไม่กังวลกับผลลัพธ์ว่าจะต้องซ้อมเพื่อสอบวัดระดับหรือเข้าประกวดให้ได้ แต่ให้เขาเล่นดนตรีด้วย passion สนุกสนาน ทุกวันนี้ ดีใจที่ลูกสาวมีเสียงดนตรีในใจตลอดเวลา ทั้งฟังเพลง เล่นเครื่องดนตรีได้หลายประเภท และร้องเพลงเพราะมาก ตัวครูเคทเองแม้ประกอบอาชีพหลากหลายสาขา แต่ทุกวันนี้ก็ยังฟังเพลงร้องเพลงกับวงดนตรีเพื่อนๆ อยู่เป็นประจำ ที่บ้านแม่กับลูกสาวจะร้องเพลงร่วมกันประจำ นี่คือผลลัพธ์ของการเรียนที่นำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรียนเพื่อให้ได้ใบประกาศอะไรสักอันมาแปะฝาบ้าน หรือโพสต์ในโซเชียลค่ะ

คุณผู้อ่านที่กำลังกังวลใจกับการเรียนของลูก ลองเปลี่ยนความกังวลใจกับผลลัพธ์ของการเรียนของลูก มาเป็นการสร้าง passion ในการเรียนรู้ให้ลูกกันดีกว่า จำไว้ว่า “สิ่งที่ต้องทำมักนำไปสู่ความล้มเหลว ส่วนสิ่งที่อยากทำมักนำไปสู่ความสำเร็จ” ค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

อกหักรักคุด ทำอย่างไรจึงจะลืมเขาได้

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “….อยากลืมแฟนเก่า อยากเลิกคิดถึงเขา แต่ความคิดเราก็มีแต่เรื่องเขาวนซ้ำไปซ้ำมา และเราก็รู้สึกเศร้ามากด้วย เป็นโรคซึมเศร้าด้วยหรือเปล่าคะ คือบางทีก็รู้สึกแบบไม่อยากมีชีวิตอยู่ รู้สึกไม่มีความสุข แล้วเป็นคนไม่มีเพื่อนด้วยค่ะ ทำยังไงดีคะ…”

ในช่วงแรกที่เลิกกับคนรักก็มักจะเป็นอย่างนี้ทุกคนค่ะ เพราะเราไปเผลอติดความเคยชินที่เคยนึกถึงกันบ่อยๆ แล้วลืมนึกถึงคนอื่นอีกหลายคน รวมทั้งลืมนึกถึงตัวเองด้วย เพราะสมองเราจะจดจำอะไรที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนสามารถดึงสิ่งนั้นขึ้นมาได้อัตโนมัติอยู่บ่อยๆ ดังนั้น ช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะนึกถึงตัวเองและคนอื่นๆ อีกมากมายกันบ้าง สำรวจอารมณ์ว่าจะเริ่มเหงาตอนไหน เช่น ตกเย็นเพราะปกติต้องเจอแฟน เราก็วางแผนเลยว่าเย็นวันไหนจะทำอะไร จะเจอใคร บางคนเหงาก่อนนอนเพราะเคยมีใครคุยด้วย ก็หากิจกรรมทำก่อนนอน เช่นให้รางวัลตัวเองนอนดูซีรีส์ที่ชอบ เอาให้ติดหนึบเลย เราก็จะไม่มีเวลานึกถึงเขา เปลี่ยนความเคยชินเดิมๆ อย่างนี้สักพัก คุณจะลืมเขาไปเลยค่ะ เพราะความเคยชินที่มีเขามันจะเปลี่ยนเป็นความเคยชินใหม่ หรือที่เรียกกันว่า New normal ที่เรามีเวลาให้ตัวเอง ครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้นแทน

การที่มีคนมาเอาใจใส่ดูแลทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าพอที่จะมีคนมาใส่ใจ คุณจึงรู้สึกดี แต่ความสุขแบบนี้คือความสุขที่ต้องรอรับ เมื่อไม่มีคนให้คุณก็เป็นทุกข์ หากคุณรู้จักตัวเองให้มากขึ้น เช่น เห็นความใจบุญ เห็นความอ่อนโยน เห็นความน่ารัก ความเซ่อๆ ความชิลๆ ความคิขุ ฯลฯ คุณจะเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และสามารถมีความสุขกับทุกอย่างรอบๆ ตัวได้ โดยไม่ต้องไปพึ่งพาหรือรอคอยให้ใครมาทำให้คุณรู้สึกมีคุณค่าค่ะ ความสุขของเรา เราสร้างเองได้ อย่าตกเป็นทาสของคนอื่น รอคอยให้คนอื่นมาหยิบยื่นความสุขให้เลยค่ะ เขาไปก็ดีแล้ว แสดงว่าเรากับเขาไม่ใช่คู่กัน อย่าไปฝืนเลย ใช้ชีวิตให้มีความสุข เดี๋ยวคนใหม่ที่ดีกว่าเก่าจะเข้ามาในชีวิตเองค่ะ

เอาเวลาเศร้าไปทำอะไรให้มีความสุขดีกว่านะคะ แก้วมันร้าวแล้วจะเก็บไว้ทำไมคะ จะเก็บมาทากาวซ่อมแซมก็ได้ แต่ทุกครั้งที่ใช้เราจะเห็นรอยร้าวเสมอ ทิ้งไปแล้วหาใหม่ดีกว่าค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกมpanic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

เมื่อต้องทนกับคนแก่บ้ากามในบ้าน

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทถึงการที่ต้องอยู่ร่วมบ้านกับคุณพ่อที่อายุแปดสิบกว่าแล้ว แต่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศคนในบ้านมาตั้งแต่หนุ่มๆ ว่า “…พ่อเป็นคนอารมณ์ร้อนมาก ถึงมากที่สุด ชอบพูดแต่เรื่องเพศ ซึ่งหนูเองมีลูกสาว 3 คน กำลังเป็นวัยรุ่น ลูกไม่ชอบการกระทำและคำพูดหลายๆ อย่างที่ตาทำ เลยค่อนข้างแอนตี้ ครอบครัวเกิดความแตกแยก ไม่ชอบตา หนูเป็นคนกลาง เครียดมาก รู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบพ่อ แต่อยู่ดูแลทุกวันนี้เพราะหน้าที่ หนูกลัวความคิดของตัวเองจะเตลิดไปมากกว่านี้ หนูควรทำอย่างไรกับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ดีคะ…”

กรณีที่ถามมานี้ เป็นปัญหาของพ่อที่มีอารมณ์เก็บกดและไม่สามารถควบคุมอารมณ์และความต้องการของตัวเองได้ ปัญหานี้สะสมมาตั้งแต่วัยเด็กจากครอบครัวพื้นฐาน อาจมีสาเหตุจากการถูกกดขี่จากคนในบ้านตั้งแต่เด็ก จึงแสดงออกทางอารมณ์ที่ก้าวร้าวเพื่อเป็นกลไกปกป้องตัวเอง แต่พอทำไปเรื่อยๆ คนในบ้านไม่กล้าหือ เด็กก็จะเรียนรู้ว่าอยากให้ใครยอมตนก็ต้องใช้ความรุนแรงใส่คนอื่น ส่วนพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ เช่น การข่มขืนหรือพูดจาลามกใส่ลูกหลานและคนในครอบครัว เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากปัญหาในใจที่สะสมมานานมาก และแสดงออกมาเพื่อใช้ควบคุมผู้อื่นที่อ่อนแอกว่า แต่ก็มีบางกรณีที่เกิดจากโรคที่เกิดความผิดปกติในสมอง เช่น ลมชัก หรือ จิตเภท แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เหยื่อคือลูกหลานในบ้าน ต้องทนทุกข์ทรมานใจจากการกระทำวิปริตของคนที่ตัวเองไว้ใจ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่สามารถเชื่อใจใครได้อีกต่อไป

ดังนั้น ในกรณีที่คุณผู้อ่านถามมา การแก้ไขปัญหาจึงควรเน้นที่ลูกหลานในครอบครัว มากกว่าคนแก่บ้ากาม หากสามารถนำผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ได้ ก็ควรรีบทำ หากผู้ป่วยไม่ร่วมมือ อาจหลอกล่อให้ไปพบจิตแพทย์ โดยอ้างถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองที่เป็นอยู่ เช่น ความจำลดน้อยลง หรือกรณีที่คุณผู้อ่านเล่ามาว่าคุณพ่อกังวลเรื่องนกเขาไม่ขัน ก็ถือว่าเข้าทางที่จะพามาพบจิตแพทย์ได้ แต่การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับลูกหลานอีก เป็นเรื่องสำคัญกว่า ดังนั้น อาจพิจารณาแยกให้ผู้ป่วยไปอยู่บ้านลูกหลานผู้ชายหรือลูกหลานที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว หรือแยกบริเวณให้เป็นสัดส่วน แล้วหาผู้ดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสมมาดูแล เพราะหากยังอยู่ในบริเวณเดียวกัน โอกาสที่ลูกหลานที่เป็นหญิงจะพลาดท่าถูกกระทำชำเราทางวาจาหรือทางกายจะมีมาก ทุกคนในบ้านควรแสดงอำนาจเหนือผู้ป่วย ด้วยการห้ามทันทีที่ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมที่ไม่สมควรออกมา อย่ามัวแต่กลัวหรือเกลียด เพราะควากลัวจะทำให้เขาสมใจว่าเขามีอำนาจเหนือเรา สามารถทำโทษอย่างเบาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ เช่น บอกไปเลยว่าไม่มีใครชอบพฤติกรรมอย่างนี้ หากยังทำอย่างนี้อีกจะกักบริเวณ จะไม่ให้ทานหรือทำอะไรที่เขาชอบ จะให้ไปอยู่ที่อื่น จะนำเรื่องไปบอกให้ผู้อื่นทราบ หรือจะแจ้งความดำเนินคดี ฯลฯ นอกจากนี้ ควรหากิจกรรมให้คนแก่บ้ากามทำ เพื่อไม่ให้หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเพศ เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ การทำสวน ทำงานบ้าน เป็นต้น

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ซึมเศร้า ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ลูกแอบดูคลิปโป๊ทำอย่างไรดี

ช่วงนี้มีคุณผู้อ่านอินบ็อกซ์เข้ามาในเพจ kate inspirer เล่าว่าลูกชายวัยเริ่มรุ่นแอบดูคลิปโป๊จะทำอย่างไรดี ก่อนอื่นพ่อแม่ผู้ปกครองอย่าคิดว่าเราสอนเรื่องเพศกับลูกไม่ได้ หรือการสอนเพศศึกษาเป็นเรื่องน่าอาย กระดากปาก หรือกลัวว่าจะเป็นการส่งเสริมลูกให้หมกมุ่นในเรื่องเพศ หลายครอบครัวโบ้ยให้เป็นหน้าที่ครูที่โรงเรียน ความจริงพ่อแม่มีหน้าที่สอนลูกถึงการดำเนินชีวิตพื้นฐาน “กิน ขี้ ปี้ นอน” (ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพ) ดังนั้น พ่อแม่สามารถสอนลูกเรื่องเพศ เหมือนการสอนเรื่องต่างๆ ได้ อะไรรู้ก็บอก อะไรไม่รู้ก็ไปหาข้อมูลมาสนทนา สอนเพื่อให้ลูกฝึกหาคำตอบและฝึกคิดด้วยตัวเอง

การสอนเด็กเล็ก เริ่มสอนให้เขาเข้าใจตนเองว่าเป็นเด็กผู้หญิงหรือชาย สอนความแตกต่างของเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชาย ห้องน้ำหญิงกับชายต้องแยกกันเพราะวิธีการฉี่ไม่เหมือนกัน การรักษาความสะอาด หรือ หนูเกิดมาเพราะพ่อแม่รักกันแล้วหนูก็เกิดขึ้นมาในท้องแม่ พอหนูตัวใหญ่แล้ว หนูก็ออกมาทางก้นแม่ (ถ้าโตหน่อยก็บอกว่าออกมาจากช่องคลอดได้ค่ะ) นอกจากนี้ ควรสอนถึงการปกป้องตัวเองไม่ให้ใครมาคุกคามทางเพศได้ เช่น การปกปิดของสงวนไม่ให้ใครเห็น และไม่ให้ใครมาจับ ถ้ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลให้บอกพ่อแม่ สอนว่าไม่ว่าใครจะขู่อย่างไร ให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่มีวิธีจัดการกับคนไม่น่ารักหรือคนไม่ดีนั้น ฯลฯ

กรณีเด็กมัธยม อาจเริ่มสอนจากหนังหรือละคร ชวนคุยถึงเรื่องการแต่งกาย คำพูด พฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของตัวละครต่างๆ สาเหตุที่ตัวละครแต่ละคนพูดหรือทำอย่างนั้น พร้อมทั้งชวนคุยว่าหากลูกอยู่ในสถานการณ์อย่างในละคร ลูกจะทำเหมือนหรือแตกต่างจากตัวละครอย่างไร วิเคราะห์ว่าตัวละครรู้สึกอย่างไรจึงพูดหรือทำอย่างนั้น พูดคุยถึงวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนเพศเดียวกันและต่างเพศ การรักษาความสัมพันธ์ที่ดี การจีบหรือคบกันอย่างเหมาะสม การวางตัวและการเอาตัวรอดในความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ การยอมรับและให้เกียรติเพศสภาพที่แตกต่างกัน

เด็กที่เริ่มสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์หรือมีแฟน อย่าสอนว่าเพศเป็นเรื่องน่าอายและผิดบาป เพราะจะส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนรักในอนาคต บางคนถึงขั้นเกลียดกลัวการมีแฟนหรือการมีเพศสัมพันธ์ไปเลย และกลายเป็นปมฝังลึกลงไปอีก กรณีที่ยกมาคุยในตอนนี้ เมื่อเด็กดูคลิปโป๊ อย่าเพิ่งดุด่าว่ากล่าว อาจสอนว่าสิ่งที่เห็นในคลิปเป็นการแสดงที่เว่อร์กว่าปกติ สอนการรู้ทันสื่อต่างๆ หรืออาจถามว่าดูแล้วรู้สึกอย่างไร ถ้าลูกตอบว่าดูแล้วรู้สึกซู่ซ่าหรือคึกคัก พ่อแม่ควรสอนว่าเป็นความรู้สึกปกติของคนที่ได้รับสิ่งเร้า และควรสอนเรื่องการจัดการอารมณ์ทางเพศของตัวเอง สอนการวางตัวเมื่ออยู่กับเพื่อนเพศตรงข้ามหรือคนรัก สอนว่าอารมณ์ทางเพศจะนำไปสู่อะไร และอาจนำมาซึ่งปัญหาอะไรบ้าง เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันคววร การถูกผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นำมาเป็นเครื่องมือต่อรอง การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ฯลฯ ขณะพูดคุยพ่อแม่ควรคุยปกติสนุกสนาน อย่าทำให้กลายเป็นการสั่งสอนอย่างจริงจัง ลูกจะอายหรือรู้สึกอึดอัดและไม่อยากคุยกับพ่อแม่เรื่องนี้อีก

ที่สำคัญ หากพ่อแม่ลูกมีความสนิทสนมใกล้ชิด และมีการทำกิจกรรมหรือพูดคุยกันอยู่เป็นประจำ ลูกก็จะไม่หมกมุ่นเรื่องเพศจนเกินไป เพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต เด็กในวัยเรียนหากมีความสนใจในเรื่องใดอย่างจริงจัง และพ่อแม่สนับสนุน เช่น เรื่องเรียน กีฬา ดนตรี ศิลปะ กิจกรรมต่างๆ พวกเขาจะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่ดีมีความสุข และไม่หมกมุ่นทางเพศจนเกินไปค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ.

เกิดมาไฮเปอร์สมาธิสั้นแล้วทำไมโตมีโอกาสซึมเศร้าด้วย

วันก่อนมีหนุ่มน้อยนักศึกษามหาวิทยาลัยเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคท ถึงอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นมาได้ 2 ปีครึ่งแล้ว และรักษากับจิตแพทย์ด้วยการทานยาอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้เกิดอาการจิตตก โหวงๆ ข้างใน หัวใจเต้นเร็ว ไม่อยากทำอะไร ซึ่งในกรณีอย่างนี้ควรรีบกลับไปพบแพทย์ผู้รักษาเพื่อทำการปรับยาที่รักษา และพบนักจิตวิทยาเพื่อปรับกระบวนการคิดที่นำไปสู่อาการซึมเศร้า เมื่อได้ซักถามประวัติของน้อง พบว่าน้องเป็นเด็กไฮเปอร์ที่ซนมากตั้งแต่เล็กๆ ซนมาก ชอบวิ่งไปมา นั่งเรียนนิ่งๆ ไม่ได้ จะมีอาการง่วงนอน แล้วก็จะถูกครูดุที่พูดมาก หรือซน หรือหลับในห้องเรียน น้องมักจะขอครูไปเข้าห้องน้ำ หรือไปดื่มน้ำอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้น้องยังมีอาการสมาธิสั้น ทำอะไรไม่ค่อยเสร็จ พ่อแม่หรือครูต้องคอยกระตุ้น ทำการบ้านก็ห่วงเล่น หรือต้องลุกไปนู่นนี่แล้วจึงกลับมาทำ แต่น้องเป็นคนหัวดีมาก เรียนเก่ง ตอนนี้เรียนวิศวะ

ที่น้องเริ่มมีอาการซึมเศร้า เพราะคิดว่าการเรียนหนัก และน้องมีความเครียดในการเรียน ซึ่งต้องการจะทำเกรดให้ได้ดี มีความคิดอยู่เสมอว่าทำอะไรต้องทำให้ได้ดี ทำอะไรเสร็จแล้วก็มักจะกลับมาดูแล้วคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ นอกจากนี้น้องยังมีลักษณะการตีความคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นไปในทางลบต่อตัวเองอยู่เสมอ เช่น เพื่อนทักว่าเห็นน้องอ่านหนังสือมาเต็มที่ ทำไมได้คะแนนแค่นี้ น้องเข้าใจว่าเพื่อนกำลังว่าน้อง หรือดูถูกน้อง แสดงให้เห็นว่าน้องเข้าใจโลกเพียงด้านเดียว แต่พอได้พูดคุยกันและฝึกให้น้องเข้าใจเจตนารมณ์ที่เป็นไปได้หลายทางของเพื่อนที่พูดอย่างนั้น ทำให้น้องเริ่มคลายเครียด เพราะเข้าใจได้ใหม่ว่าเพื่อนไม่ได้ว่าอะไร เป็นการถามไถ่ด้วยความสงสัยเท่านั้น

ปัจจุบันมักพบคนที่เป็นสมาธิสั้น หรือ ไฮเปอร์ตั้งแต่เด็กๆ เมื่อโตขึ้นมักมีอาการซึมเศร้าตามมาด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะในวัยเด็กมักจะถูกผู้ใหญ่ดุ ตำหนิ เปรียบเทียบ หรือห้ามในเรื่องต่างๆ อยู่บ่อยๆ ทำให้เด็กซึ่งไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรกับตัวเขา เขาไม่เข้าใจว่าเพราะคลื่นสมองที่ไม่เสถียรทำให้เขาซน ยุกยิก หรือแม้แต่ง่วงเหงาหาวนอน ทำให้เขาเข้าใจว่าเขาเป็นเด็กไม่ดี ไม่เก่ง ทำอะไรก็ถูกว่าอยู่เสมอ ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกด้อย กังวลใจ ขาดความเชื่อมั่น และมองโลกในแง่ลบต่อตัวเองโดยไม่รู้ตัว และกลายเป็นความเครียดสะสมจนอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสอนการควบคุมคลื่นสมองและสภาวะอารมณ์ให้เป็นปกติ โดยให้เด็กหัดสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองบ่อยๆ เมื่อรับรู้ความผิดปกติที่ปรากฏสัญญาณบนร่างกาย เช่น ใจเต้นแรง ร้อน กล้ามเนื้อเกร็ง รู้สึกโหวงๆ ข้างใน ฯลฯ ให้รับรู้และผ่อนคลายบริเวณนั้น หรือรอคอยอย่างใจเย็นให้สัญญาณเหล่านั้นค่อยๆ หายไป ฝึกปรับอารมณ์ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้ นับ 1-2-3 หายใจออกยาวๆพร้อมกับคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง อารมณ์จะดีขึ้น การยิ้มหรือหัวเราะบ่อยๆ จะช่วยเพิ่มสารแห่งความสุขในสมอง หากจะฝึกสมาธิควรฝึกสมาธิแบบเคลื่อนไหว เช่น ในขณะออกกำลังกายให้สังเกตการเคลื่อนไหว ความตึง หด ของกล้ามเนื้อ การถ่ายน้ำหนักขณะเคลื่อนไหว ก็จะช่วยเพิ่มสมาธิได้ดี นอกจากนี้ ควรดูแลปรับเพิ่มสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสภาวะอารมณ์ เช่น วิตามิน B สังกะสี แมกนีเซียม อาหารที่มีโปรตีนสูง โอเมก้า 3 งดอาหารที่มีสารกระตุ้นสมอง เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และวางโทรศัพท์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีพลังงานให้ห่างตัวให้มากที่สุดตอนนอนค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ลูกชั้นเตรียมอนุบาลไม่ยอมไปโรงเรียน

มีคุณแม่ท่านหนึ่งอินบ็อกซ์มาถามครูเคทในเพจ Kate Inspirer ว่า “… ลูกอยู่เตรียมอนุบาลไม่ยอมไปโรงเรียนค่ะ ทำไงดีคะ ตื่นเช้ามาโวยวายไม่ไปโรงเรียน ไม่อาบน้ำ ร้องโวยวาย แล้วมีกิริยาเอาแต่ใจตัวเองถ้าไม่พอใจเอามือ 2 ข้างถูไปมาอาละวาดค่ะ ขอคำแนะนำหน่อยค่ะ…”

การที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนมีหลายสาเหตุ เช่น อาจเกี่ยวข้องกับโรงเรียน หรือที่บ้าน หรืออาจเกิดจากปัจจัยของตัวเด็กเองก็ได้

สาเหตุที่เกี่ยวกับโรงเเรียน เช่น โดนครูดุ หรือขู่ โดนเพื่อนว่าหรือแกล้งหรือหัวเราะเยาะ หรืออาจกลัวสถานที่ เพราะอาจได้ยินเรื่องราวบางอย่าง อย่างเช่น เพื่อนบอกว่าตรงนั้นตรงนี้มีผี มีแมงมุม ฯลฯ ต้องค่อยๆ หลอกถามเวลาอารมณ์ดี ให้เขาเล่าให้ฟัง

สาเหตุที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน หรือมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นที่บ้านที่ทำให้เด็กมีความวิตกกังวล เช่น กลัวพ่อแม่เลิกกัน กลัวพ่อแม่ทะเลาะกัน กลัวพ่อแม่หายไป ฯลฯ หรือในกรณีที่พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบใกล้ชิดเกินไป ลูกอาจไม่อยากห่างพ่อแม่ จึงไม่อยากไปโรงเรียนก็ได้

สาเหตุที่เกี่ยวกับตัวเด็กเอง เช่น เด็กนอนไม่เต็มอิ่มแล้วถูกปลุกขึ้นมาเพื่อเตรียมตัวไปโรงเงรียน ทำให้รู้สึกหงุดหงิดโดนบังคับ จิตของเด็กอาจเชื่อมโยงความหงุดหงิดกับการไปโรงเรียนได้ จากที่ถามมา การที่เด็กอาละวาดถูมือไปมาเป็นสัญญาณของความเครียดและอึดอัดใจ และไม่รู้ว่าจะแสดงออกอย่างไร พ่อแม่ต้องสังเกตเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อย่าดุหรือบังคับ เพราะจะยิ่งเชื่อมโยงให้เด็กเกลียดโรงเรียนมากขึ้น

บางคนขาดทักษะทางสังคมไม่รู้จะเล่นกับเพื่อนอย่างไร จึงไม่อยากเล่นกับคนที่ไม่คุ้นเคย เพราะเติบโตมากับโลกเสมือนจริงในมือถือ ทำให้ขาดทักษะเกี่ยวกับมนุษย์ ไม่รู้จะคุยกับใครอย่างไร ยิ่งบ้านที่พ่อแม่สื่อสารทางเดียวคือสั่งกับสอน แต่ไม่เคยตั้งใจฟังลูกจริงๆ ยิ่งทำให้เด็กกลัวการพูดคุยกับคนมากขึ้น นอกจากนี้ลองสังเกตอาการและพฤติกรรมในด้านอื่นๆ ด้วยเช่น การรอคอย พฤติกรรมเมื่ออยู่กับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคย ภาษาและบทสนทนากับผู้อื่น (เด็กบางคนเริ่มบทสนทนาไม่เป็น เพราะส่วนใหญ่มีแต่ถูกถาม)

เด็กบางคนยังช่วยเหลือตัวเองไม่เก่งทำให้กังวลใจเวลาเข้าห้องน้ำหรือทำอะไรไม่ทันเพื่อน ขาดความเชื่อมั่นในการทำอะไรโดยที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย พ่อแม่ควรเตรียมความพร้อมของลูกด้านทักษะการดูแลตัวเองและทักษะทางสังคมก่อนที่จะเข้าโรงเรียน หากเด็กยังไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องเร่งรัด สมัยก่อนอนุบาลมีแค่ อ. 1-2 เท่านั้น ไม่มีเตรียมอนุบาล สมัยนี้เร่งเรียนกันมากไป กลายเป็นเด็กต้องเรียนเตรียมอนุบาล แล้วยังต้องเรียน อ. 1-3 หากที่บ้านมีผู้ปกครองเลี้ยงดูเด็กได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งเข้าโรงเรียนค่ะ

การสอนให้เด็กยุคใหม่มีทักษะสังคมกับคนตัวเป็นๆ และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เด็กที่ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกตัวเองมักเก็บกดอารมณ์สะสมเอาไว้ เมื่อโตขึ้นมักจะซึมเศร้า หรือไม่ก็กลายเป็นคนฉุนเฉียวค่ะ ควรสอนให้เด็กหัดสังเกตและเข้าใจความรู้สึกของตัวเองที่ปรากฏบนร่างกาย เช่น “หนูกำลังโกรธใช่มั้ย ดูสิตัวแข็งเลย (หรือ หน้าร้อนเลย หรือ หายใจแรงเลย)” “โถ… หนูกำลังกลัว ดูสิตัวสั่นเลย” ฯลฯ เมื่อเด็กเข้าความรู้สึกของตัวเองแล้ว ให้สอนวิธีตอบสนองอย่างเหมาะสม เช่น ถ้ารู้สึกกลัวหรือโกรธ ให้สูดหายใจเข้าลึกๆ ออกช้าๆ ยาวๆ ถ้ารู้สึกอาย ให้ยิ้มรับ เป็นต้น

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

รับมือกับเจ้านายขี้หงุดหงิด

มีพนักงานหญิงคนหนึ่งเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคท ว่าช่วงนี้รู้สึกจิตตกกับการทำงาน เพราะรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจเจ้านาย บางทีนายก็บอกว่าไว้ใจให้ทำงานอะไรไม่ได้สักอย่าง ทำงานให้เสร็จไปวันๆ ไม่ใส่ใจงาน ฯลฯ เธอทำงานเป็นมือขวาเจ้านายซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทด้วย แต่นายเป็นคนเรื่องเยอะ เช่น เธอเตรียมสไลด์ให้ เจ้านายก็บ่นว่ารูปแบบไม่สวย สีไม่ถูกต้อง ตัวอักษรเล็กไป สะกดผิด ฯลฯ เธอคิดว่าเธอเป็นคนตั้งใจและทุ่มเทให้กับการทำงานมาก ไปทำงานแต่เช้ากลับดึกทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ถ้ามีงานเธอก็ไปด้วยความเต็มใจ แต่ทำไมนายดูจะหงุดหงิดกับเธอมาก

ปัญหาเจ้านายกับลูกน้องในเคสนี้เกิดจากการมองคนละมุม ลองมามองมุมของเจ้านายก่อนนะคะ ในสภาวะตึงเครียดทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองอย่างในปัจจุบันนี้ เจ้านายคงจะมีความวิตกกังวลหลายด้าน ไหนจะหารายได้เข้าบริษัทให้ได้ตามเป้า เพื่อให้ครอบคลุมหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ และยังต้องดูแลพนักงานโดยพยายามรักษาไม่ทำให้ใครต้องตกงาน ความกังวลเหล่านี้ทำให้คนเป็นนายเกิดความเครียดแล้วไม่รู้จะจัดการกับความเครียดอย่างไร จึงกระแทกออกมาเป็นความหงุดหงิด โกรธ ตำหนิติเตียน และกล่าวโทษลูกน้อง ส่วนด้านลูกน้อง ก็เครียดในใจว่าบริษัทจะยังไปรอดหรือไม่ ตนจะตกงานไม่รู้ตัวหรือไม่ ฯลฯ จึงทำให้ลูกน้องมีโอกาสทำงานผิดพลาดตกหล่นขาดสมาธิในการทำงาน
คนที่มีความวิตกกังวลจะมีอาการครุ่นคิดวนเวียนอยู่ในใจทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ความไม่รู้ตัวนี่แหละค่ะที่ทำให้คนเราเกิดความเครียด และเมื่อเครียดมากขึ้น ก็เกิดอารมณ์หงุดหงิด สิ่งที่คนทำงานกังวลแบบไม่รู้ตัวมากที่สุดก็คือ กลัวทำไม่เสร็จ กลัวทำไม่ถูก กลัวทำไม่ดี เพราะคิดเอาว่าหากเราทำอะไรผิดพลาด ไม่สำเร็จ หรือไม่มีคุณภาพ ผลที่จะตามมาก็คือการถูกตำหนิติเตียน หรือถูกดูถูกจากคนอื่นๆ หรือแม้แต่ผิดหวังกับตัวเอง ดูถูกและตำหนิตัวเองว่าล้มเหลว การมองตัวเองในแง่ลบเกิดจากการเผลอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอ และมีแนวโน้มเห็นว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นอยู่บ่อยๆ

ในช่วงที่บรรยากาศในที่ทำงานมีความเครียด ทั้งเจ้านายและลูกน้องควรเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร เจ้านายเวลาสั่งงาน ควรสั่งให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะอะไร จะเอาไปทำอะไร เพื่อใคร เพื่อให้ลูกน้องได้เห็นภาพเดียวกัน ส่วนลูกน้องเวลารับคำสั่ง ก็ควรทวนความเข้าใจของตัวเองให้นายฟังสักรอบ เพื่อจะได้มั่นใจว่าเห็นตรงกัน และควรอธิบายแผนการทำงานของตนและเหตุผลที่ตัวเองจะทำอย่างนั้นให้นายได้รับทราบ เพื่อที่นายจะได้ช่วยดูกระบวนการทำงานถูกต้องแล้วหรือยัง ซึ่งจะช่วยทำให้นายคลายความกลัวผลงานจะออกมาผิดพลาด และความกลัวผลงานออกมาไม่มีคุณภาพได้ด้วย ระหว่างการทำงาน ลูกน้องควรมีการรายงานเจ้านายเป็นระยะๆ เพื่อให้เจ้านายคลายความกลัวงานไม่เสร็จ หรือเสร็จไม่ทันได้มาก ที่สำคัญการสื่อสารเพื่อช่วยให้นายคลายความวิตกกังวลยังส่งผลดีต่อลูกน้องด้วย เพราะทำให้ลูกน้องเข้าใจการทำงานและวางแผนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลูกน้องเองมีความเครียดน้อยลง ขาดความกังวลสงสัยทำให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น และเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ให้มองที่ความผิดพลาดและแก้ไขความผิดพลาด ไม่ใช่มองว่าใครผิดใครถูก และตำหนิตัวเองหรือผู้อื่น อย่างนี้ก็จะมีความสุขทั้งเจ้านายและลูกน้องค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ