มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “…โดนครอบครัวคาดหวังบอกให้ตั้งใจเรียนทำคะแนนให้ได้เยอะ พอทำได้ก็โดนว่าทำได้แค่นี้เองเหรอ ดูอย่างคนอื่นสิเค้าทำได้ดีกว่าตั้งเยอะ พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย เวลาแม่อยากได้อะไรก็ให้หนูไปขอพ่อ ขอไม่ได้ก็โดนด่า ตายายก็ทะเลาะกับลุงบ่อย พี่ชายกับพี่สะใภ้ก็ทะเลาะกันแทบจะทุกวัน หนูก็มีโรคประจำตัวพอไปโรงเรียนก็โดนเพื่อนว่า โดนเพื่อนล้อจนไม่อยากไปเรียน ร้องไห้คนเดียวทุกวันไม่มีใครสนใจเลย รู้สึกไร้ค่ามากเหมือนไม่มีตัวตน ยิ่งเวลาที่คนในบ้านทะเลาะยิ่งทำให้เหมือนเราไม่เคยอยู่ในสายตาของเขาเลย ช่วงนี้เวลาเครียดจะชอบทำร้ายตัวเอง ด่าว่าตัวเอง โทษตัวเอง นอนร้องไห้ทุกคืน…”
พ่อแม่ที่ตั้งความคาดหวังกับลูกให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข เป็นเรื่องปกติของทุกครอบครัว แต่บางกรณี ความคาดหวังอาจจะมากไปสักนิด ซึ่งอาจมาจากประสบการณ์ชีวิตของพ่อแม่ที่เคยถูกคนสบประมาท หรือพ่อแม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากไปแล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า เมื่อรู้สึกว่าด้อยกว่าคนอื่น ก็เก็บความรู้สึกไม่ชอบไม่พอใจไว้ลึกๆ และเผลอนำความต้องการนี้มาครอบที่ลูก เหมือนกับว่าอยากให้ลูกเก่งกว่าดีกว่าคนอื่น จะได้ลบปมในใจพ่อแม่ นอกจากนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่อาจไม่เคยได้รับคำชมหรือคำให้กำลังใจแบบดีๆ อาจเคยได้รับแต่กำลังใจหรือคำชมในลักษณะนี้ คือ ยังไม่ดีพอ ก็เลยทำอย่างนี้กับลูกของตัวเองโดยไม่รู้ตัว
กรณีครอบครัวที่มีบรรยากาศทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ทุกคนในครอบครัวเครียด และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แสดงว่าสมาชิกในครอบครัวขาดทักษะในการสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตัวเองออกมาเป็นคำพูดดีๆ จึงกระแทกอารมณ์ออกมาเป็นคำพูดประชดประชัน หรือด่าทอ สบประมาท การแก้ไขทุกคนต้องตั้งใจฟังโดยไม่ต้องคิดปรุงแต่งต่อ ปล่อยให้คนที่เป็นปัญหาพูดออกมาบ้าง สมาชิกคนอื่นหัดฟังแต่เนื้อหา ไม่ต้องรับอารมณ์ของเขาเข้ามาทำร้ายตัวเอง แต่การฟังเนื้อหา ไม่ใช่สักแต่ฟัง หรือเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจว่าข้างในของคนคนนั้น เจ็บปวดหรืออึดอัดด้วยเรื่องอะไร เช่น ที่พ่อแม่คุณผู้อ่านที่ถามมาบอกว่า “ทำได้แค่นี้หรือ คนอื่นทำได้ดีกว่าตั้งเยอะ” คำพูดนี้พ่อแม่ไม่ได้ว่าลูกไม่เก่ง แต่การพูดว่าลูกเก่ง อาจทำให้พ่อแม่เจ็บปวดใจที่เขาไม่เคยทำได้ หรือไม่เคยได้รับคำชมลักษณะนี้มาก่อน พ่อแม่จึงพูดอย่างไม่รู้ตัวอย่างนี้
การที่พ่อแม่ไม่พูดกันตรงๆ แต่ใช้ลูกเป็นคนกลาง นั่นก็เป็นเพราะว่าทั้งคู่รู้สึกเจ็บปวด น้อยใจที่อีกฝ่ายไม่เข้าใจ ไม่เห็นคุณค่า ไม่ถูกรับฟัง พ่อแม่จึงไม่พูดกันตรงๆ ลูกไม่ควรถามว่าทำไมไม่บอกกันเอง แต่ควรถามพ่อแม่ว่ารู้สึกอย่างไรถ้าจะต้องพูดกันเอง การถามถึงความรู้สึกจะช่วยทำให้คนเราเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้น คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจกับความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น เพราะมันเจ็บปวด จึงพยายามไปใส่ใจที่เนื้อหาและเหตุผล ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ความเจ็บปวดลดน้อยลง เพียงแต่ย้ายจุดโฟกัสจากความรู้สึกที่เจ็บปวด น้อยใจ ไปสู่เนื้อหาและเหตุผลเท่านั้น เรื่องราวและเหตุผลที่ต่างฝ่ายต่างยกขึ้นมาพูด จริงๆ แล้วเป็นเพียงกำแพงปกป้องตัวเอง เพื่อที่จะบอกตัวเองว่าฉันไม่ผิด เป็นกลไกป้องกันความเจ็บปวดแบบอัตโนมัติของครอบครัวที่มีแต่เรื่องทะเลาะกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีค่ะ
การจะแก้ปัญหาในครอบครัว ต้องช่วยให้ทุกคนได้เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ไม่ใช่มุ่งแก้ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นรายวัน ฝึกการเป็นผู้ฟังที่ไม่มีอคติและไม่ปรุงแต่งต่อ (ว่าเขากำลังต่อว่าเรา) ฟังให้เข้าใจความรู้สึกของเขา จึงจะช่วยทุกคนได้ค่ะ สำหรับเราเอง ก็ขอให้มองตัวเองให้ชัด เข้าใจความรู้สึกของตัวเองให้ดี รู้ว่าความรู้สึกอะไรทำให้เราทำสิ่งนั้น เมื่อทำแล้วก็ขอให้ยอมรับความคิดและการกระทำของตัวเอง ถ้าผิดก็ยอมรับกับตัวเองว่าผิดและลงมือแก้ไข อย่าเผลอรับเอาคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นมาทำร้ายตัวเองค่ะ
ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ