Author: Krukateadmin1

ลูกทำอะไรไม่ได้แล้วเอาแต่ร้องไห้

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “….น้องค่อนข้างจะเชื่อฟังแม่มาก ถ้าได้รับมอบหมายอะไรให้ทำ น้องจะร้องไห้ กลัวแม่ดุ เช่น ใช้ให้ไปหาของ ถ้าเขาหาไม่เจอ น้องจะไม่บอก แต่จะยืนร้องไห้ หรือแม่สั่งให้ท่องหนังสือหรือทำการบ้าน ถ้าทำไม่ได้ก็จะนิ่งแล้วร้องไห้ ถ้าคนพูดจาเสียงดัง พูดไม่เพราะหรือดุ น้องจะน้ำตาคลอทันที …กรณีอยู่นอกบ้าน ถ้าไม่มีพี่สาวหรือแม่อยู่ด้วย เขาจะประหม่า ทำอะไรเองไม่ได้ เช่น ปวดปัสสาวะหรือหิวน้ำ เขาจะไม่บอกใครที่เขาไม่รู้จัก แต่จะยืนร้องไห้อย่างเดียว เหมือนน้องไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลยค่ะ..”

เด็กน้อยขี้แง น่าจะเป็นปัญหาที่พ่อแม่อาจจะมึนตึ้บไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะบางทีพ่อแม่ยังไม่ได้ดุ น้องก็ชิงร้องไห้เสียก่อนแล้ว เด็กที่เซนส์สิทีฟส่วนหนึ่งเป็นนิสัยที่มีมากับเขาตั้งแต่เกิด หรือบางคนอาจจะบอกว่าติดตัวมาแต่อดีตชาติ ดังจะเห็นได้ง่ายๆ ว่าพี่น้องท้องเดียวกัน หรือแม้แต่ฝาแฝด เกิดพร้อมกัน เลี้ยงดูมาเหมือนกัน แต่นิสัยต่างกัน แต่นอกจากนิสัยส่วนตัวที่มีมาแต่กำเนิดแล้ว สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูนั้นดูจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดบุคลิกภาพของเด็กอย่างมาก การที่เกิดเป็นน้องก็อาจมีส่วน เพราะเด็กๆ จะมองเด็กคนอื่นๆ แล้วเทียบกับตัวเอง เช่น เมื่อเห็นพี่ทำได้ แต่ตัวเขาทำไม่ได้ เขาก็อาจจะรู้สึกด้อยกว่าได้ ท้งๆ ที่พ่อแม่อาจจะไม่ได้เปรียบเทียบอะไร ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเขาไม่ได้เข้าใจว่าพี่อายุมากกว่าย่อมมีความสามารถสูงกว่า และที่สำคัญเขาไม่เคยเห็นพี่ของเขาต้องอายุเท่าเขาในวันนี้ ดังนั้นพ่อแม่ต้องระวังที่จะไม่เปรียบเทียบลูกๆ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ

การชมเด็กเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองให้มากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นศิลปะ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะชมลูกด้วยคำพูดทั่วๆ ไป เช่น เก่งจัง เยี่ยมมาก แม่ภูมิใจในตัวหนูนะ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นคำชมที่ได้ผลสำหรับเด็กทั่วไป แต่กรณีเด็กที่เซนส์สิทีฟหรือขาดความเชื่อมั่นในตนเองมาก พ่อแม่ต้องใช้คำชมที่ลงรายละเอียดให้เด็กได้เห็นคุณค่าในตัวเองด้วยค่ะ เช่น “ลูกระบายสีสวยจัง คุณแม่ชอบที่หนูระบายดอกไม้ด้วยสีแดงและสีชมพู ดูสดชื่นดีจัง… แล้วภูเขาสีน้ำเงินลูกนี้นี่ให้ความรู้สึกต่างจากภูเขาสีเขียวลูกนี้ยังไงคะ…” (คำถามเรื่องภูเขานี้จะช่วยให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา พ่อแม่ควรรับฟังด้วยความสนอกสนใจ ไม่ต้องขัด หรืออธิบายหรือแก้ไขอะไร) กระบวนการชมโดยการพูดถึงรายละเอียดในสิ่งที่เด็กทำ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดของเขา และได้เห็นว่าความคิดของเขามีคนรับฟังอย่างสนอกสนใจ และไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กมากขึ้น

กรณีการปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น หรือการดูแลรับผิดชอบตัวเองเมื่ออยู่นอกบ้าน อย่างที่คุณผู้อ่านเล่ามาข้างต้น ผู้ใหญ่ควรสอนทักษะการช่วยเหลือตัวเอง การสังเกตความต้องการ และอารมณ์ของตัวเอง รวมถึงการวางใจในบุคคลที่พ่อแม่วางใจ และไม่วางใจบุคคลแปลกหน้า เช่น เมื่ออยู่นอกบ้านกับญาติที่ไม่ใช่พ่อแม่และพี่สาว พ่อแม่ควรบอกเด็กว่ามีอะไรหรือต้องการอะไรให้บอกญาติคนนั้นได้เลย หากลูกปวดปัสสาวะให้บอกผู้ใหญ่ที่พ่อแม่ให้ไปด้วยว่าให้พาไปห้องน้ำ เป็นต้น ทักษะทางสังคมนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสอน อย่าเหมารวมว่าเด็กทุกคนควรจะปรับตัวได้เอง เด็กบางคนมีความวิตกจริตน้อย ก็จะดูเก่งกาจช่วยเหลือตัวเองได้ดี แต่เด็กที่วิตกจริตมาก พ่อแม่ต้องสอนทักษะการคุยกับคนเพื่อบอกความต้องการของตัวเอง หรือกรณีที่เด็กไปกับพ่อแม่ เมื่ออยากเข้าห้องน้ำ ให้เด็กลองมองหาป้ายบอกทางไปห้องน้ำ แล้วเดินไปด้วยกัน ไปถึงอาจจะให้เด็กเข้าห้องน้ำเอง (หากช่วยเหลือตัวเองได้พอสมควร) โดยผู้ปกครองยืนอยู่ที่หน้าประตูห้องน้ำ เป็นต้น เมื่อเด็กทำได้ดี ให้ชมและบอกว่าหากเด็กมากับญาติพี่น้องคนอื่น ก็ให้ทำอย่างเดียวกัน คือ หาป้ายห้องน้ำ และให้ผู้ใหญ่พามา แล้วบอกให้ผู้ใหญ่ยืนอยู่หน้าประตูห้องน้ำ ฯลฯ อย่างนี้เด็กจะค่อยๆ มองเห็นความสามารถของตัวเองมากขึ้น และเห็นว่าไม่ใช่เรื่องทุกเรื่องที่จะต้องถูกตัดสินผลลัพธ์โดยคนอื่นว่า

เสร็จ หรือถูก หรือดี หรือไม่ พ่อแม่ควรทำให้ทุกเรื่องเป็นความสนุกสนานในการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ของเด็ก ไม่ใช่การที่เด็กต้องทำอะไรเพื่อผลลัพธ์ค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ลูกชอบดนตรี แต่ไม่ยอมซ้อมดนตรี

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “…. ลูกเป็นเด็กที่ไม่เก่งวิชาการแต่พอเรียนได้ มีความถนัดแนวดนตรีกับศิลปะมากกว่าด้านวิชาการ แต่โรงเรียนของลูกเน้นวิชาการ ลูกเลยรู้สึกเหนื่อยและไม่อยากซ้อมดนตรี จะช่วยลูกยังไงดีคะ…”

เรื่องลูกเรียนไม่เก่งนี่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้พ่อแม่วิตกกังวลมาก และมุ่งแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุโดยเน้นผลลัพธ์ที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ คือ เกรดดี เรากำลังลืมมองอะไรไปอีกหลายๆ จุด หรือเปล่า เช่น ทักษะการเรียนรู้และการนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตจริง ไม่ใช่เรียนกันเข้าไปแบบความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

การที่ลูกเรียนไม่เก่ง เราต้องหาสาเหตุที่แน่ชัดให้ได้เสียก่อน สาเหตุที่เด็กเรียนไม่เก่งอาจมาจากระดับสติปัญญาต่ำ หรืออาจไม่ใช่ เด็กบางคนสติปัญญาสูง แต่มีความวิตกกังวลกับปัญหาที่บ้านหรือที่โรงเรียนทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง จำอะไรไม่ได้ พอปัญหาสะสมไม่ได้รับการแก้ไข บวกกับผลการเรียนแย่ลงเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เด็กเกิดอาการถอดใจ และเชื่อว่าตัวเองไม่ฉลาด เรียนไม่เก่ง อะไรทำนองนั้น สภาพแวดล้อมในบ้านที่อาจส่งผลต่อการเรียนของเด็กอาจหมายถึงปัญหาที่เห็นชัดเจน เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ไปจนถึงปัญหาที่มองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา เช่น ความคาดหวังของพ่อแม่หรือความวิตกกังวลของพ่อแม่ที่ไม่รู้ตัว อยากให้ลูกเรียนเก่ง อยากให้ลูกชนะหรือเป็นที่ยอมรับของคนอื่น ฯลฯ ซึ่งแรงกดดันหลายรูปแบบเหล่านี้ ทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด วิตกกังวล กลัว รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า เครียด แบกรับ จนนำไปสู่การขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้

เด็กที่เครียดหรือวิตกกังวลก็อาจหาทางออกด้วยการทำอะไรเพลินๆ เข่น งานศิลปะ เพลง เล่นเกม เป็นต้น ลองดูว่างานศิลปะและดนตรีของเขาเป็นอย่างไร (เด็กบางคนมีพรสวรรค์ด้านนี้จริง แต่บางคนแค่ชอบเพราะคลายเครียด ผู้ปกครองต้องมองให้ชัดก่อนว่าเป็นกลุ่มไหน) ถ้าลูกมีพรสวรรค์ด้านศิลปะหรือดนตรีจริง เขาจะมี passion หรือความชอบความหลงใหลงานด้านนี้อย่างเห็นได้ชัด มีการติดตามผลงานของศิลปินต่างๆ มีสมาธิในการทำงานศิลปะหรือแต่งเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรีอย่างจริงๆ จังๆ เห็นพัฒนาการของฝีมือเก่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้แสดงว่ามีพรสวรรค์จริง ก็ควรส่งเสริมไปด้านนี้เลย แต่เด็กที่ชอบศิลปะหรือเพลง เพียงแค่คลายเครียด หรือ ผ่อนคลาย เราจะไม่เห็น passion ของเขาในเรื่องนี้ แต่จะเห็นแค่ เขาชอบเล่นดนตรี ฟังเพลง ร้องเพลง วาดภาพ ถ่ายภาพ แต่งภาพ เพื่อความสนุกหรือคลายเครียด ทำสักพักก็เปลี่ยนไปชอบไปทำอย่างอื่น ไม่อินและทำสิ่งนั้นนานๆ และไม่มีกลุ่มเพื่อนที่มีพรสวรรค์คล้ายกัน

ที่คุณผู้อ่านถามมา ถ้าเด็กเป็นแบบกลุ่มหลัง ผู้ปกครองต้องหาสาเหตุแห่งความกังวลใจจนทำให้ไม่สนใจเรียนให้เจอ แล้วค่อยๆช่วยให้เขาเปิดใจกับการเรียนรู้ค่ะ อย่าหลงกับภาพเปลือก เด็กที่ชอบดนตรีจริงๆ มี passion กับดนตรีจริงๆ เขาจะซ้อมดนตรี ในเวลาที่เขามีอารมณ์อยากจะซ้อมเองค่ะ การที่ผู้ปกครองสั่งให้ซ้อมจะยิ่งทำให้เด็กเกลียดสิ่งนั้นมากขึ้น เพราะจิตใต้สำนึกของเขาจะรู้สึกว่ากำลังถูกบังคับ ถ้าผู้ปกครองยังมองเพียงแค่ผลลัพธ์ เช่น ถ้าไม่ซ้อม จะเล่นไม่ได้ แล้วก็จะโดนคุณครูว่า ผลลัพธ์อย่างนี้จะกังวลทำไมคะ สมัยเด็กๆ ครูเคทเคยเรียนเปียโน และโตขึ้นเคยเป็นครูสอนเปียโน จำได้ว่าอยากซ้อมก็ซ้อม ไม่อยากซ้อมก็ไม่ซ้อม แต่พอไปดีดให้คุณครูดู ถ้าไม่ซ้อมมาก็ดีดไม่เพราะ คุณครูก็ให้เรียนเพลงเดิมซ้ำ ไม่ขึ้นเพลงใหม่ให้ วันไหนซ้อมมาดี คุณครูชม แถมมีเพลงเพราะๆ นอกเหนือบทเรียนแถมให้ด้วย ชอบมาก จากนั้นก็รู้ด้วยตัวเองเลยว่าต้องซ้อมให้คล่อง โดยไม่ต้องมีใครมาคอยบ่นหรือสั่ง เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องฝีมืออะไรหรอกค่ะ แต่เด็กๆ จะอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น ถ้าไม่ซ้อมทำให้เล่นไม่เพราะ ก็แปลว่าอดได้เล่นเพลงใหม่ พ่อแม่ยุคนี้ดูจะวิตกกังวลกับผลลัพท์จนมองข้ามทักษะการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต การเอาตัวรอด ทำให้เด็กยุคนี้มีความเครียดสูงมาก และการเรียนรู้เป็นเรื่องที่น่าเบื่อค่ะ

สมัยที่ลูกสาวครูเคทเรียนเปียโน ครูเคทก็ไม่เคยสอนลูก แม้ว่าแม่จะเคยเป็นครูสอนเปียโน แต่จะปล่อยให้เขาเรียนกับคุณครูเอง บริหารจัดการการเรียนการซ้อมตามอารมณ์ของเขาเอง ไม่กังวลกับผลลัพธ์ว่าจะต้องซ้อมเพื่อสอบวัดระดับหรือเข้าประกวดให้ได้ แต่ให้เขาเล่นดนตรีด้วย passion สนุกสนาน ทุกวันนี้ ดีใจที่ลูกสาวมีเสียงดนตรีในใจตลอดเวลา ทั้งฟังเพลง เล่นเครื่องดนตรีได้หลายประเภท และร้องเพลงเพราะมาก ตัวครูเคทเองแม้ประกอบอาชีพหลากหลายสาขา แต่ทุกวันนี้ก็ยังฟังเพลงร้องเพลงกับวงดนตรีเพื่อนๆ อยู่เป็นประจำ ที่บ้านแม่กับลูกสาวจะร้องเพลงร่วมกันประจำ นี่คือผลลัพธ์ของการเรียนที่นำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรียนเพื่อให้ได้ใบประกาศอะไรสักอันมาแปะฝาบ้าน หรือโพสต์ในโซเชียลค่ะ

คุณผู้อ่านที่กำลังกังวลใจกับการเรียนของลูก ลองเปลี่ยนความกังวลใจกับผลลัพธ์ของการเรียนของลูก มาเป็นการสร้าง passion ในการเรียนรู้ให้ลูกกันดีกว่า จำไว้ว่า “สิ่งที่ต้องทำมักนำไปสู่ความล้มเหลว ส่วนสิ่งที่อยากทำมักนำไปสู่ความสำเร็จ” ค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

อกหักรักคุด ทำอย่างไรจึงจะลืมเขาได้

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “….อยากลืมแฟนเก่า อยากเลิกคิดถึงเขา แต่ความคิดเราก็มีแต่เรื่องเขาวนซ้ำไปซ้ำมา และเราก็รู้สึกเศร้ามากด้วย เป็นโรคซึมเศร้าด้วยหรือเปล่าคะ คือบางทีก็รู้สึกแบบไม่อยากมีชีวิตอยู่ รู้สึกไม่มีความสุข แล้วเป็นคนไม่มีเพื่อนด้วยค่ะ ทำยังไงดีคะ…”

ในช่วงแรกที่เลิกกับคนรักก็มักจะเป็นอย่างนี้ทุกคนค่ะ เพราะเราไปเผลอติดความเคยชินที่เคยนึกถึงกันบ่อยๆ แล้วลืมนึกถึงคนอื่นอีกหลายคน รวมทั้งลืมนึกถึงตัวเองด้วย เพราะสมองเราจะจดจำอะไรที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนสามารถดึงสิ่งนั้นขึ้นมาได้อัตโนมัติอยู่บ่อยๆ ดังนั้น ช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะนึกถึงตัวเองและคนอื่นๆ อีกมากมายกันบ้าง สำรวจอารมณ์ว่าจะเริ่มเหงาตอนไหน เช่น ตกเย็นเพราะปกติต้องเจอแฟน เราก็วางแผนเลยว่าเย็นวันไหนจะทำอะไร จะเจอใคร บางคนเหงาก่อนนอนเพราะเคยมีใครคุยด้วย ก็หากิจกรรมทำก่อนนอน เช่นให้รางวัลตัวเองนอนดูซีรีส์ที่ชอบ เอาให้ติดหนึบเลย เราก็จะไม่มีเวลานึกถึงเขา เปลี่ยนความเคยชินเดิมๆ อย่างนี้สักพัก คุณจะลืมเขาไปเลยค่ะ เพราะความเคยชินที่มีเขามันจะเปลี่ยนเป็นความเคยชินใหม่ หรือที่เรียกกันว่า New normal ที่เรามีเวลาให้ตัวเอง ครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้นแทน

การที่มีคนมาเอาใจใส่ดูแลทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าพอที่จะมีคนมาใส่ใจ คุณจึงรู้สึกดี แต่ความสุขแบบนี้คือความสุขที่ต้องรอรับ เมื่อไม่มีคนให้คุณก็เป็นทุกข์ หากคุณรู้จักตัวเองให้มากขึ้น เช่น เห็นความใจบุญ เห็นความอ่อนโยน เห็นความน่ารัก ความเซ่อๆ ความชิลๆ ความคิขุ ฯลฯ คุณจะเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และสามารถมีความสุขกับทุกอย่างรอบๆ ตัวได้ โดยไม่ต้องไปพึ่งพาหรือรอคอยให้ใครมาทำให้คุณรู้สึกมีคุณค่าค่ะ ความสุขของเรา เราสร้างเองได้ อย่าตกเป็นทาสของคนอื่น รอคอยให้คนอื่นมาหยิบยื่นความสุขให้เลยค่ะ เขาไปก็ดีแล้ว แสดงว่าเรากับเขาไม่ใช่คู่กัน อย่าไปฝืนเลย ใช้ชีวิตให้มีความสุข เดี๋ยวคนใหม่ที่ดีกว่าเก่าจะเข้ามาในชีวิตเองค่ะ

เอาเวลาเศร้าไปทำอะไรให้มีความสุขดีกว่านะคะ แก้วมันร้าวแล้วจะเก็บไว้ทำไมคะ จะเก็บมาทากาวซ่อมแซมก็ได้ แต่ทุกครั้งที่ใช้เราจะเห็นรอยร้าวเสมอ ทิ้งไปแล้วหาใหม่ดีกว่าค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกมpanic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

น้อยใจพ่อแม่ชอบใส่อารมณ์กับลูก

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “…ขอคำแนะนำหน่อยครับ คือผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า รู้สึกว่าพ่อแม่ทำไมถึงทำกับผมอย่างงี้ คือพ่อแม่ไม่ค่อยจะให้กำลังใจ ไม่ค่อยจะรับฟังเหตุผลจากผมเลย พูดไม่ให้ความหวังผม เลยชอบพูดต่อว่าผมให้คนอื่นเห็นตลอด แล้วเวลาสอนผมก็จะใช้อารมณ์ในการสอน ไม่ค่อยจะให้อิสระกับผมเลย ผมควรจะทำอย่างไรดีให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นคับผมเริ่มรู้สึกจะทนไม่ไหวแล้วคับ…”

ถ้าจะแก้ปัญหาพ่อแม่ลูก เราลองมาทำความเข้าใจมุมมองและความรู้สึกนึกคิดของแต่ละฝ่ายกันก่อนดีกว่า

การที่พ่อแม่ไม่รับฟังเหตุผลจากลูกนั้น อาจเกิดจากอัตตาหรือการยึดถือว่าตนเองเป็นพ่อเป็นแม่ มีประสบการณ์มากกว่าลูก ความคิดของพ่อแม่จะถูกต้องดีงามกว่าของลูก เพราะมองว่าลูกอ่อนประสบการณ์กว่า แต่ในความเป็นจริงที่พ่อแม่มักไม่รู้ตัวก็คือ พ่อแม่ที่มีความวิตกกังวล มีความกลัวทั้งที่รู้ตัวและที่ไม่รู้ตัว มักจะสร้างกำแพงขึ้นปกป้องตัวเองและครอบคลุมไปถึงลูก กำแพงนี้ก็คืออัตตา ความยึดถือในความเชื่อของตนเองนั่นเอง พ่อแม่ที่ขี้กลัว ขี้กังวล จะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ชอบเซอร์ไพรส์ ไม่ชอบอะไรที่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้นการที่ลูกเสนอความคิดเห็น ความกลัวของพ่อแม่จึงทำให้พ่อแม่ไม่รับฟัง ทั้งๆ ที่บางทียังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าลูกจะพูดว่าอะไร พ่อแม่ที่ชอบตีกรอบลูกมากเกินไปก็คือพ่อแม่ที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ตนควบคุมไม่ได้นั่นเอง

พ่อแม่ที่ชอบพูดจาแรงๆ ชอบตำหนิติเตียนลูก และชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น อาจเป็นเพราะขาดต้นแบบที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนสมัยก่อนมีคำกล่าวว่า อย่าชมลูกเดี๋ยวจะเหลิง ประกอบกับพ่อแม่บางส่วนก็เติบโตมาพร้อมกับบรรยากาศอย่างนี้ภายในบ้าน คือไม่ชม แต่ด่าหรือประชดแทน ดังนั้นเมื่อพ่อแม่มีลูกของตัวเอง จะชมลูกบางคนก็รู้สึกทำไม่เป็น เขิน หรืออะไรก็ตามที่ผุดขึ้นในใจ คำชื่นชมจึงเผลอหลุดออกมาเป็นคำพูดเหน็บแนมเสียดสีเสียเป็นส่วนใหญ่


ไทยรัฐโพล

คุณสนใจที่จะลองผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาการเพื่อรองรับปัญหาสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุหรือไม่

สนใจมากสนใจปานกลางไม่ค่อยสนใจไม่สนใจเลย

https://www.google.com/recaptcha/api2/anchor?ar=1&k=6LcokawgAAAAAARJIuEgpoaH-N1hbr7quLKYTJO9&co=aHR0cHM6Ly93d3cudGhhaXJhdGguY28udGg6NDQz&hl=en&type=image&v=V6_85qpc2Xf2sbe3xTnRte7m&theme=light&size=invisible&badge=bottomright&cb=j9y92qfbxkv3

การเก็บรวบรวมข้อมูลนี้นำไปใช้เพื่อ กิจกรรมทางการตลาดโดยยึดหลัก ปฏิบัติตามนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “…ขอคำแนะนำหน่อยครับ คือผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า รู้สึกว่าพ่อแม่ทำไมถึงทำกับผมอย่างงี้ คือพ่อแม่ไม่ค่อยจะให้กำลังใจ ไม่ค่อยจะรับฟังเหตุผลจากผมเลย พูดไม่ให้ความหวังผม เลยชอบพูดต่อว่าผมให้คนอื่นเห็นตลอด แล้วเวลาสอนผมก็จะใช้อารมณ์ในการสอน ไม่ค่อยจะให้อิสระกับผมเลย ผมควรจะทำอย่างไรดีให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นคับผมเริ่มรู้สึกจะทนไม่ไหวแล้วคับ…”

ถ้าจะแก้ปัญหาพ่อแม่ลูก เราลองมาทำความเข้าใจมุมมองและความรู้สึกนึกคิดของแต่ละฝ่ายกันก่อนดีกว่า

การที่พ่อแม่ไม่รับฟังเหตุผลจากลูกนั้น อาจเกิดจากอัตตาหรือการยึดถือว่าตนเองเป็นพ่อเป็นแม่ มีประสบการณ์มากกว่าลูก ความคิดของพ่อแม่จะถูกต้องดีงามกว่าของลูก เพราะมองว่าลูกอ่อนประสบการณ์กว่า แต่ในความเป็นจริงที่พ่อแม่มักไม่รู้ตัวก็คือ พ่อแม่ที่มีความวิตกกังวล มีความกลัวทั้งที่รู้ตัวและที่ไม่รู้ตัว มักจะสร้างกำแพงขึ้นปกป้องตัวเองและครอบคลุมไปถึงลูก กำแพงนี้ก็คืออัตตา ความยึดถือในความเชื่อของตนเองนั่นเอง พ่อแม่ที่ขี้กลัว ขี้กังวล จะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ชอบเซอร์ไพรส์ ไม่ชอบอะไรที่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้นการที่ลูกเสนอความคิดเห็น ความกลัวของพ่อแม่จึงทำให้พ่อแม่ไม่รับฟัง ทั้งๆ ที่บางทียังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าลูกจะพูดว่าอะไร พ่อแม่ที่ชอบตีกรอบลูกมากเกินไปก็คือพ่อแม่ที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ตนควบคุมไม่ได้นั่นเอง

พ่อแม่ที่ชอบพูดจาแรงๆ ชอบตำหนิติเตียนลูก และชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น อาจเป็นเพราะขาดต้นแบบที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนสมัยก่อนมีคำกล่าวว่า อย่าชมลูกเดี๋ยวจะเหลิง ประกอบกับพ่อแม่บางส่วนก็เติบโตมาพร้อมกับบรรยากาศอย่างนี้ภายในบ้าน คือไม่ชม แต่ด่าหรือประชดแทน ดังนั้นเมื่อพ่อแม่มีลูกของตัวเอง จะชมลูกบางคนก็รู้สึกทำไม่เป็น เขิน หรืออะไรก็ตามที่ผุดขึ้นในใจ คำชื่นชมจึงเผลอหลุดออกมาเป็นคำพูดเหน็บแนมเสียดสีเสียเป็นส่วนใหญ่

พ่อแม่บางคนชอบเปรียบเทียบลูกตัวเองกับคนอื่น หรือตำหนิลูกต่อหน้าคนอื่น อาจเป็นเพราะพ่อแม่รู้สึกด้อยกว่าคนอื่น หรือไม่มั่นใจในตนเอง (ลูกก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง) จึงเผลอเปรียบเทียบตัวเองและลูกของตัวเองกับคนอื่นอยู่บ่อยๆ พฤติกรรมอย่างนี้ของพ่อแม่จะทิ้งรอยแผลเป็นไว้ในใจลูกยาวนาน และลูกจะเติบโตเป็นคนไม่เชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือแม้แต่กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ขี้อิจฉาก็เป็นได้

พ่อแม่บางคนอาจคาดหวังจะให้ลูกทำในสิ่งที่พวกเขาทำไม่สำเร็จค่ะ พ่อแม่ที่เรียนไม่เก่งก็อยากให้ลูกเรียนเก่ง พ่อแม่ที่รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวก็อยากให้ลูกประสบความสําเร็จ พ่อแม่ที่เคยลำบากก็อยากให้ลูกสุขสบาย พ่อแม่ที่เคยถูกกดขี่หรือไร้อำนาจก็อยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน เป็นเรื่องปกติในทุกครอบครัว แต่พ่อแม่ที่มีความกลัวหรือมีความบอบช้ำทางใจจากอดีตมากกว่าปกติ จึงคาดหวังลูกมากกว่าปกติ

ส่วนลูกที่รู้สึกอึดอัดมักเกิดจากการที่เขาถูกควบคุมชีวิตจนเสมือนว่าเขาไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตของเขา ต้องทำตามพ่อแม่เพราะเขาอยากให้พ่อแม่รักเขา และด้วยที่เขาก็รักพ่อแม่ จึงทำตามพ่อแม่เพราะไม่อยากให้พ่อแม่เสียใจ แต่การที่คนเราต้องยอมทำตามคนอื่นอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองก็ก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัดอย่างนี้แหละค่ะ ยิ่งลูกที่ถูกตีกรอบอายุมากขึ้น เขายิ่งอยากค้นหาตัวตนของเขาที่เป็นตัวตนของเขาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตัวตนที่พ่อแม่ปั้นให้เป็น แต่เขาไม่มีโอกาสแสดงออก แม้แต่คำพูดก็ยังไม่มีใครฟังเขา เมื่อเป็นอย่างนี้ความอึดอัดก็จะทวีมากขึ้นจนเกิดเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เป็น เช่น ก้าวร้าว รุนแรง หรือ เก็บกด ซึมเศร้า หมดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต

คำแนะนำสำหรับคุณผู้อ่านที่ถามมาก็คือ ทำความเข้าใจเราคงแก้ปัญหาให้พ่อแม่ไม่ได้ค่ะ พ่อแม่ต้องแก้ไขตัวเองเมื่อเขาเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ ถ้าพ่อแม่ไม่เห็นปัญหา หรือเห็นแต่นั่งทับเอาไว้ เราก็ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจพ่อแม่ และยอมรับ เช่น พ่อแม่ใส่อารมณ์กับเราโดยไม่มีเหตุผล ก็ขอให้เข้าใจว่าพ่อแม่มีปมปัญหาในใจที่เขาไม่รู้ตัว และเขาไม่รู้วิธีการที่จะจัดการกับอารมณ์ของเขา เราลองเมตตาพ่อแม่ของเราบ้าง เพราะอย่างไรพ่อแม่ก็เป็นคนธรรมดาที่มีปัญหาเหมือนกับคนทั่วไป ถ้าเราเข้าใจความรู้สึกเบื้องลึกของพ่อแม่ได้ เราก็จะไม่โกรธ ไม่น้อยใจพ่อแม่ค่ะ

สิ่งที่เราทำได้เพื่อแก้ปัญหาให้ตัวเองคือการรู้จักตัวเอง เข้าใจความต้องการ ความรู้สึก ความสามารถของตัวเองให้ดี แล้วพัฒนาตัวเองเพื่อตัวเองค่ะ ไม่ใช่เพื่อคนอื่น หมั่นเมตตาตัวเองเมื่อทำผิดพลาดไป ลุกขึ้นแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง อย่าเสียเวลาโทษตัวเองหรือดูถูกตัวเอง มองความสามารถของตัวเองในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มองผลลัพธ์ที่ล้มเหลว มองให้เห็นทักษะเชิงบวกและพัฒนาการของตัวเอง โดยไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น อย่างนี้ก็จะสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุขได้ค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

เมื่อต้องทนกับคนแก่บ้ากามในบ้าน

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทถึงการที่ต้องอยู่ร่วมบ้านกับคุณพ่อที่อายุแปดสิบกว่าแล้ว แต่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศคนในบ้านมาตั้งแต่หนุ่มๆ ว่า “…พ่อเป็นคนอารมณ์ร้อนมาก ถึงมากที่สุด ชอบพูดแต่เรื่องเพศ ซึ่งหนูเองมีลูกสาว 3 คน กำลังเป็นวัยรุ่น ลูกไม่ชอบการกระทำและคำพูดหลายๆ อย่างที่ตาทำ เลยค่อนข้างแอนตี้ ครอบครัวเกิดความแตกแยก ไม่ชอบตา หนูเป็นคนกลาง เครียดมาก รู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบพ่อ แต่อยู่ดูแลทุกวันนี้เพราะหน้าที่ หนูกลัวความคิดของตัวเองจะเตลิดไปมากกว่านี้ หนูควรทำอย่างไรกับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ดีคะ…”

กรณีที่ถามมานี้ เป็นปัญหาของพ่อที่มีอารมณ์เก็บกดและไม่สามารถควบคุมอารมณ์และความต้องการของตัวเองได้ ปัญหานี้สะสมมาตั้งแต่วัยเด็กจากครอบครัวพื้นฐาน อาจมีสาเหตุจากการถูกกดขี่จากคนในบ้านตั้งแต่เด็ก จึงแสดงออกทางอารมณ์ที่ก้าวร้าวเพื่อเป็นกลไกปกป้องตัวเอง แต่พอทำไปเรื่อยๆ คนในบ้านไม่กล้าหือ เด็กก็จะเรียนรู้ว่าอยากให้ใครยอมตนก็ต้องใช้ความรุนแรงใส่คนอื่น ส่วนพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ เช่น การข่มขืนหรือพูดจาลามกใส่ลูกหลานและคนในครอบครัว เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากปัญหาในใจที่สะสมมานานมาก และแสดงออกมาเพื่อใช้ควบคุมผู้อื่นที่อ่อนแอกว่า แต่ก็มีบางกรณีที่เกิดจากโรคที่เกิดความผิดปกติในสมอง เช่น ลมชัก หรือ จิตเภท แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เหยื่อคือลูกหลานในบ้าน ต้องทนทุกข์ทรมานใจจากการกระทำวิปริตของคนที่ตัวเองไว้ใจ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่สามารถเชื่อใจใครได้อีกต่อไป

ดังนั้น ในกรณีที่คุณผู้อ่านถามมา การแก้ไขปัญหาจึงควรเน้นที่ลูกหลานในครอบครัว มากกว่าคนแก่บ้ากาม หากสามารถนำผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ได้ ก็ควรรีบทำ หากผู้ป่วยไม่ร่วมมือ อาจหลอกล่อให้ไปพบจิตแพทย์ โดยอ้างถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองที่เป็นอยู่ เช่น ความจำลดน้อยลง หรือกรณีที่คุณผู้อ่านเล่ามาว่าคุณพ่อกังวลเรื่องนกเขาไม่ขัน ก็ถือว่าเข้าทางที่จะพามาพบจิตแพทย์ได้ แต่การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับลูกหลานอีก เป็นเรื่องสำคัญกว่า ดังนั้น อาจพิจารณาแยกให้ผู้ป่วยไปอยู่บ้านลูกหลานผู้ชายหรือลูกหลานที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว หรือแยกบริเวณให้เป็นสัดส่วน แล้วหาผู้ดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสมมาดูแล เพราะหากยังอยู่ในบริเวณเดียวกัน โอกาสที่ลูกหลานที่เป็นหญิงจะพลาดท่าถูกกระทำชำเราทางวาจาหรือทางกายจะมีมาก ทุกคนในบ้านควรแสดงอำนาจเหนือผู้ป่วย ด้วยการห้ามทันทีที่ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมที่ไม่สมควรออกมา อย่ามัวแต่กลัวหรือเกลียด เพราะควากลัวจะทำให้เขาสมใจว่าเขามีอำนาจเหนือเรา สามารถทำโทษอย่างเบาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ เช่น บอกไปเลยว่าไม่มีใครชอบพฤติกรรมอย่างนี้ หากยังทำอย่างนี้อีกจะกักบริเวณ จะไม่ให้ทานหรือทำอะไรที่เขาชอบ จะให้ไปอยู่ที่อื่น จะนำเรื่องไปบอกให้ผู้อื่นทราบ หรือจะแจ้งความดำเนินคดี ฯลฯ นอกจากนี้ ควรหากิจกรรมให้คนแก่บ้ากามทำ เพื่อไม่ให้หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเพศ เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ การทำสวน ทำงานบ้าน เป็นต้น

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ซึมเศร้า ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ครอบครัวที่พูดจากันดีๆ ไม่ได้

มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “…โดนครอบครัวคาดหวังบอกให้ตั้งใจเรียนทำคะแนนให้ได้เยอะ พอทำได้ก็โดนว่าทำได้แค่นี้เองเหรอ ดูอย่างคนอื่นสิเค้าทำได้ดีกว่าตั้งเยอะ พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย เวลาแม่อยากได้อะไรก็ให้หนูไปขอพ่อ ขอไม่ได้ก็โดนด่า ตายายก็ทะเลาะกับลุงบ่อย พี่ชายกับพี่สะใภ้ก็ทะเลาะกันแทบจะทุกวัน หนูก็มีโรคประจำตัวพอไปโรงเรียนก็โดนเพื่อนว่า โดนเพื่อนล้อจนไม่อยากไปเรียน ร้องไห้คนเดียวทุกวันไม่มีใครสนใจเลย รู้สึกไร้ค่ามากเหมือนไม่มีตัวตน ยิ่งเวลาที่คนในบ้านทะเลาะยิ่งทำให้เหมือนเราไม่เคยอยู่ในสายตาของเขาเลย ช่วงนี้เวลาเครียดจะชอบทำร้ายตัวเอง ด่าว่าตัวเอง โทษตัวเอง นอนร้องไห้ทุกคืน…”

พ่อแม่ที่ตั้งความคาดหวังกับลูกให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข เป็นเรื่องปกติของทุกครอบครัว แต่บางกรณี ความคาดหวังอาจจะมากไปสักนิด ซึ่งอาจมาจากประสบการณ์ชีวิตของพ่อแม่ที่เคยถูกคนสบประมาท หรือพ่อแม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากไปแล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า เมื่อรู้สึกว่าด้อยกว่าคนอื่น ก็เก็บความรู้สึกไม่ชอบไม่พอใจไว้ลึกๆ และเผลอนำความต้องการนี้มาครอบที่ลูก เหมือนกับว่าอยากให้ลูกเก่งกว่าดีกว่าคนอื่น จะได้ลบปมในใจพ่อแม่ นอกจากนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่อาจไม่เคยได้รับคำชมหรือคำให้กำลังใจแบบดีๆ อาจเคยได้รับแต่กำลังใจหรือคำชมในลักษณะนี้ คือ ยังไม่ดีพอ ก็เลยทำอย่างนี้กับลูกของตัวเองโดยไม่รู้ตัว

กรณีครอบครัวที่มีบรรยากาศทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ทุกคนในครอบครัวเครียด และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แสดงว่าสมาชิกในครอบครัวขาดทักษะในการสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตัวเองออกมาเป็นคำพูดดีๆ จึงกระแทกอารมณ์ออกมาเป็นคำพูดประชดประชัน หรือด่าทอ สบประมาท การแก้ไขทุกคนต้องตั้งใจฟังโดยไม่ต้องคิดปรุงแต่งต่อ ปล่อยให้คนที่เป็นปัญหาพูดออกมาบ้าง สมาชิกคนอื่นหัดฟังแต่เนื้อหา ไม่ต้องรับอารมณ์ของเขาเข้ามาทำร้ายตัวเอง แต่การฟังเนื้อหา ไม่ใช่สักแต่ฟัง หรือเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจว่าข้างในของคนคนนั้น เจ็บปวดหรืออึดอัดด้วยเรื่องอะไร เช่น ที่พ่อแม่คุณผู้อ่านที่ถามมาบอกว่า “ทำได้แค่นี้หรือ คนอื่นทำได้ดีกว่าตั้งเยอะ” คำพูดนี้พ่อแม่ไม่ได้ว่าลูกไม่เก่ง แต่การพูดว่าลูกเก่ง อาจทำให้พ่อแม่เจ็บปวดใจที่เขาไม่เคยทำได้ หรือไม่เคยได้รับคำชมลักษณะนี้มาก่อน พ่อแม่จึงพูดอย่างไม่รู้ตัวอย่างนี้

การที่พ่อแม่ไม่พูดกันตรงๆ แต่ใช้ลูกเป็นคนกลาง นั่นก็เป็นเพราะว่าทั้งคู่รู้สึกเจ็บปวด น้อยใจที่อีกฝ่ายไม่เข้าใจ ไม่เห็นคุณค่า ไม่ถูกรับฟัง พ่อแม่จึงไม่พูดกันตรงๆ ลูกไม่ควรถามว่าทำไมไม่บอกกันเอง แต่ควรถามพ่อแม่ว่ารู้สึกอย่างไรถ้าจะต้องพูดกันเอง การถามถึงความรู้สึกจะช่วยทำให้คนเราเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้น คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจกับความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น เพราะมันเจ็บปวด จึงพยายามไปใส่ใจที่เนื้อหาและเหตุผล ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ความเจ็บปวดลดน้อยลง เพียงแต่ย้ายจุดโฟกัสจากความรู้สึกที่เจ็บปวด น้อยใจ ไปสู่เนื้อหาและเหตุผลเท่านั้น เรื่องราวและเหตุผลที่ต่างฝ่ายต่างยกขึ้นมาพูด จริงๆ แล้วเป็นเพียงกำแพงปกป้องตัวเอง เพื่อที่จะบอกตัวเองว่าฉันไม่ผิด เป็นกลไกป้องกันความเจ็บปวดแบบอัตโนมัติของครอบครัวที่มีแต่เรื่องทะเลาะกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีค่ะ

การจะแก้ปัญหาในครอบครัว ต้องช่วยให้ทุกคนได้เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ไม่ใช่มุ่งแก้ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นรายวัน ฝึกการเป็นผู้ฟังที่ไม่มีอคติและไม่ปรุงแต่งต่อ (ว่าเขากำลังต่อว่าเรา) ฟังให้เข้าใจความรู้สึกของเขา จึงจะช่วยทุกคนได้ค่ะ สำหรับเราเอง ก็ขอให้มองตัวเองให้ชัด เข้าใจความรู้สึกของตัวเองให้ดี รู้ว่าความรู้สึกอะไรทำให้เราทำสิ่งนั้น เมื่อทำแล้วก็ขอให้ยอมรับความคิดและการกระทำของตัวเอง ถ้าผิดก็ยอมรับกับตัวเองว่าผิดและลงมือแก้ไข อย่าเผลอรับเอาคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นมาทำร้ายตัวเองค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ทำไมชีวิตนี้เจอแต่ผู้ชายไม่จริงใจ

มีคุณผู้อ่านท่านหนึ่งนัดเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคทด้วยปัญหาที่น่าเห็นใจ พอมาถึงเธอก็เอาแต่ร้องห่มร้องไห้ บอกว่าชีวิตนี้ไม่รู้ว่าเธอทำกรรมอะไรไว้ มีแฟนกี่คนก็เจอแต่ผู้ชายที่ไม่จริงใจ เห็นเหมือนเธอเป็นแค่คู่นอน แต่พอคบกันนานขึ้น เขาก็เลือกแต่งงานกับผู้หญิงคนอื่นทุกที ไม่เลือกเธอ

ลักษณะนิสัยของเธอเป็นผู้หญิงทำงานเก่ง ฉลาด แคล่วคล่องว่องไว รูปร่างหน้าตาดี ใครพบเห็นก็ชื่นชม ช่างพูดคุยเข้ากับคนง่าย ในที่ทำงานแล้ว เธอถือเป็นบุคลากรแถวหน้าขององค์กรเลยก็ว่าได้ ผู้ชายที่เข้ามาคบหากับเธอทุกคนก็เป็นคนที่คุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งรูปร่างหน้าตา ฐานะ และการศึกษา เรียกว่าเป็นคู่ที่ดูดีเหมาะสมกัน แต่พอคบๆ กันไปสัก 1-2 ปี ฝ่ายชายก็ดูจะจืดจางลง บางรายก็เริ่มคบซ้อน บางรายไปแต่งงานกับคนอื่นแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน พฤติกรรมของเธอเมื่ออยู่กับแฟน เธอบอกว่าเธอจะยอมทำทุกอย่างที่แฟนต้องการ เพราะกลัวเขาไม่รัก หรือกลัวเขาทิ้งไป

คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่าการยอมทำตามใจแฟนมันไม่ดีตรงไหน ใครๆ ก็ชอบให้มีคนคอยเอาอกเอาใจหรือตามใจอยู่แล้ว การทำอะไรที่เป็นธรรมชาติของคนเรานั้นดีแน่ค่ะ หากคุณเป็นคนที่ชอบทำนู่นนี่ให้คนอื่นอยู่เป็นนิสัยแล้ว แสดงว่าธรรมชาติของคุณเป็นคนที่มีจิตบริการ ดังนั้นเวลาจะช่วยเหลือ หรือทำอะไรให้ใครก็จะเป็นธรรมชาติไม่ขัดเขิน คนที่ได้รับการเอาใจใส่จากคุณ เขาก็สัมผัสได้ หากว่าคุณมิได้มีจิตบริการผู้อื่น (ไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะคะ) แต่พยายามที่จะเอาใจหรือช่วยเหลือคนอื่น คนอื่นก็สัมผัสได้ว่ามีอะไรขัดๆ อยู่ภายใน คนที่เอาใจแฟนเพราะอยากเห็นแฟนมีความสุข กับคนที่เอาใจแฟนเพราะอยากให้เขารัก จะต่างกัน อย่างแรกทำให้โดยไม่หวังอะไรให้ตัวเอง แต่อย่างหลังทำให้อย่างเผลอหวังว่าตัวเองจะได้อะไรตอบแทน คราวนี้คนที่คบกันมาสักระยะ ก็เริ่มจะสัมผัสอะไรได้อย่างนี้ และฝ่ายชายมักจะเกิดอาการเบื่อในการเอาอกเอาใจที่ดีเกิน และมักจบด้วยการที่ฝ่ายชายบอกว่าคุณดีเกินไป

กรณีของคุณผู้หญิงที่มาปรึกษาครูเคท จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของเธอในที่ทำงาน เธอเป็นตัวของตัวเอง เก่ง สนุกสนาน มีชีวิตชีวา มั่นใจ ซึ่งเชื่อว่าผู้ชายที่เข้ามาในชีวิตของเธอคงจะประทับใจคุณสมบัติเหล่านี้ของเธอ แต่พอคบกันไปแล้ว คุณสมบัติที่เขาประทับใจกลับไม่ค่อยได้เห็น เห็นแต่ผู้หญิงที่เป็นน้องน้อย ติดพี่ชายแจ หัวอ่อนว่าง่าย ให้ทำอะไรก็ทำ ขี้แง วิตกกังวล และนี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หนุ่มๆ ทั้งหลายตัดสินใจเซย์กู๊ดบายกับเธอคนแล้วคนเล่า

เมื่อค้นหาสาเหตุให้ลึกลงไปอีก พบว่าเธอกับคุณพ่อของเธอมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน เพราะคุณพ่อมัวแต่ทำมาหากิน นานๆ จะกลับบ้านสักที ทำให้เธอรู้สึกกังวลมาตั้งแต่เด็กๆ ทุกครั้งที่ถึงเวลาที่คุณพ่อจะต้องกลับไปทำงาน เธอบอกว่าเธอไม่อยากนึกถึงภาพที่คุณพ่อกลับไปทำงานที่ต่างจังหวัดทุกวันจันทร์ เธอทำตัวเป็นเด็กดี เรียนเก่ง ว่านอนสอนง่าย เพราะอยากให้คุณพ่อภูมิใจ เมื่อเธอมีคนรักซึ่งถือเป็นสำคัญในชีวิตของเธอ เธอจึงเผลอกลายเป็นเด็กน้อยว่านอนสอนง่าย เสมือนว่าแฟนของเธอเป็นภาพทับซ้อนของคุณพ่อ เพราะเธอกลัวว่าแฟนจะทิ้งเธอไป

การแก้ไขปัญหากลัวคนสำคัญไม่รักหรือทิ้งไป เราต้องแก้ที่ทัศนคติของตัวเราเองในการเข้าใจความสัมพันธ์ว่าเราควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรฝืนธรรมชาติของตัวเอง ถ้าเรากับแฟนของเราคือคนที่ใช่ของกันและกัน ความสัมพันธ์ก็จะยืนยาว หากไม่ใช่หรือผิดฝาผิดตัว ก็อย่าไปยื้อเลยค่ะ นอกจากนี้ อย่าไปติดภาพจำว่าคนสำคัญเดินจากไป ให้เปลี่ยนภาพที่ควรจดจำเป็นภาพคนสำคัญใช้เวลาอยู่กับเราอย่างมีความสุขแทนจะดีกว่า เราจะได้ไม่วิตกกังวลว่าเขาจะจากไปจนเราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ไม่อยากเรียนตามที่พ่อแม่ต้องการ

มีน้องผู้อ่านเขียนมาปรึกษาครูเคทในแฟนเพจ kate inspirer ว่า “…ตอนนี้หนูเครียดมาก อยากจะปรึกษาปัญหาที่ว่าพ่อแม่อยากให้หนูเป็นหมอ แต่ดูเหมือนว่าหนูก็ไม่ได้ชอบทางนี้เลย แต่ไม่รู้ว่าจะบอกพวกเขายังไงค่ะ…”

ก่อนที่จะตอบน้องว่าควรบอกคุณพ่อคุณแม่อย่างไร ขออธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจก่อนว่าอาชีพในยุคปัจจุบันนั้นมีมากมายกว่ายุคที่คุณพ่อคุณแม่ยังเรียนอยู่ และต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเรียนอะไร แน่นอนว่าในยุคนั้น หมอและวิศวกรเป็นอาชีพในฝันของทุกคน เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง รายได้ดี และมีเกียรติ แต่ในโลกปัจจุบันของเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้น การทำงานประจำกินเงินเดือนดูจะห่างไกลจากความฝันของพวกเขาอยู่มาก เยาวชนในยุคนี้ต้องการงานที่มีอิสระ เป็นนายตัวเอง เพราะทั้งชีวิตเขาถูกผู้ใหญ่คอยชี้นำจนเขาไม่รู้แล้วว่าตัวของเขาเองชอบอะไรหรืออยากเป็นอะไรจริงๆ นอกจากนี้ การที่เยาวชนในยุคนี้ไม่ต้องการทำงานองค์กรใหญ่ๆ ก็เพราะกลัวการถูกตีกรอบ ถูกจับตามอง ถูกเปรียบเทียบ และถูกประเมินว่าเก่งไม่เก่ง ดีไม่ดี เหมือนกับที่เขาได้รับจากครอบครัว จึงทำให้เมื่อเรียนจบมา ก็ไม่อยากสมัครงานที่ใด แต่พยายามจะสร้างงานอิสระให้กับตัวเอง

การถูกชี้นำโดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจจะชี้นำ ทำให้น้องๆ หลายคนเกิดการกดข่มความฝันหรือถอดใจในการที่จะเดินตามความฝันของเขา และกลายเป็นคนที่ไม่มีความฝัน หรือไม่มี passion หรือแรงขับเคลื่อนในการดำเนินชีวิตตามที่พวกเขาต้องการ ปัญหาที่ทั้งพ่อแม่และน้องๆ มาปรึกษาครูเคทบ่อยมากในปัจจุบันคือ ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร ไม่รู้ว่าอยากทำอะไร น่าเสียดายที่น้องๆ ในวัยเรียนนี้น่าจะเป็นวัยที่ควรสนอกสนใจเรียนรู้อะไรในเชิงลึกและกว้าง แต่ในยุคที่สังคมมีการแข่งขันสูง พ่อแม่ที่มีความวิตกกังวลต่ออนาคตของลูกมากเกินไป อาจเผลอครอบงำความคิดลูกโดยไม่รู้ตัว

บ้านใดที่ลูกๆ ตอบไม่ได้ว่าจะเรียนอะไร จะทำอะไร ขอให้ลองถอยกลับมามองดูว่าการเลี้ยงดูลูกๆ ที่ผ่านมา เคยได้ปล่อยให้เขาได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง ค้นหาตัวเองบ้างหรือไม่ หรือทุกอย่างถูกคิดถูกจัดตาราง ถูกป้องกันปัญหาไว้ให้เขาเรียบร้อยแล้ว ลูกเคยได้ลองผิดลองถูกบ้างหรือไม่ ลูกได้เคยล้มเหลวแล้วลุกขึ้นเองโดยพ่อแม่ไม่ต้องช่วยบ้างหรือไม่ บางบ้านมักบอกว่าไม่เคยครอบงำ ให้ลูกตัดสินใจอะไรเอง แต่พ่อแม่เป็นคนชี้นำทางเลือกให้ลูกเลือกเอง หรือคอยประเมินการกระทำของลูกอยู่เสมอหรือไม่ หรือไม่ได้ฟังการตัดสินใจของลูกด้วยความเคารพในมุมมองของลูก แต่เผลอฟังด้วยความวิตกกังวลหรือไม่ บางทีปฏิกิริยาของพ่อแม่ที่มีต่อการตัดสินใจของลูก อาจทำให้ลูกกลัวที่จะบอกหรือปรึกษาอะไรกับพ่อแม่ เหมือนอย่างในกรณีน้องผู้อ่านที่เขียนมาถามนี้ก็ได้

ข้อแนะนำในการพูดคุยเรื่องสำคัญระหว่างพ่อแม่ลูกคือ แทนที่ต่างคนต่างพูดความต้องการและจุดยืนของตัวเอง พร้อมทั้งคำอธิบาย เหตุผลต่างๆ นานาเพื่อที่จะจูงใจให้อีกฝ่ายเชื่อหรือยอมตาม แต่ละฝ่ายควรพูดถึงความวิตกกังวลของตนเองออกมาให้ทุกคนเข้าใจด้วย เพื่อที่การสนทนาจะครอบคลุมถึงการช่วยการแก้ปัญหาหรือลดความวิตกกังวลของกันและกัน ไม่ใช่การเอาชนะให้ได้ตามจุดยืนของตัวเอง เช่น น้องที่ไม่อยากเป็นหมอ ควรพูดถึงความรู้สึกหรือความกังวลของตัวเองหากต้องเป็นหมอ (ไม่ใช่พูดว่าตัวเองไม่ชอบเป็นหมอ แต่อยากเป็นอย่างอื่น อาชีพที่อยากเป็นให้พูดในภายหลัง) ส่วนพ่อแม่ก็ควรพูดถึงความกังวลของตัวเองในการที่ลูกไม่ได้เป็นหมอ (ไม่ใช่พูดว่าทำไมลูกควรเป็นหมอ) ฟังดูอาจจะงงๆ บ้าง เพราะเราไม่เคยชินที่จะพูดในมุมที่เราไม่เคยมอง แต่ลองดูเถอะค่ะ แล้วจะแฮปปี้เอนดิ้งทั้งพ่อแม่ลูก

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ลูกแอบดูคลิปโป๊ทำอย่างไรดี

ช่วงนี้มีคุณผู้อ่านอินบ็อกซ์เข้ามาในเพจ kate inspirer เล่าว่าลูกชายวัยเริ่มรุ่นแอบดูคลิปโป๊จะทำอย่างไรดี ก่อนอื่นพ่อแม่ผู้ปกครองอย่าคิดว่าเราสอนเรื่องเพศกับลูกไม่ได้ หรือการสอนเพศศึกษาเป็นเรื่องน่าอาย กระดากปาก หรือกลัวว่าจะเป็นการส่งเสริมลูกให้หมกมุ่นในเรื่องเพศ หลายครอบครัวโบ้ยให้เป็นหน้าที่ครูที่โรงเรียน ความจริงพ่อแม่มีหน้าที่สอนลูกถึงการดำเนินชีวิตพื้นฐาน “กิน ขี้ ปี้ นอน” (ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพ) ดังนั้น พ่อแม่สามารถสอนลูกเรื่องเพศ เหมือนการสอนเรื่องต่างๆ ได้ อะไรรู้ก็บอก อะไรไม่รู้ก็ไปหาข้อมูลมาสนทนา สอนเพื่อให้ลูกฝึกหาคำตอบและฝึกคิดด้วยตัวเอง

การสอนเด็กเล็ก เริ่มสอนให้เขาเข้าใจตนเองว่าเป็นเด็กผู้หญิงหรือชาย สอนความแตกต่างของเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชาย ห้องน้ำหญิงกับชายต้องแยกกันเพราะวิธีการฉี่ไม่เหมือนกัน การรักษาความสะอาด หรือ หนูเกิดมาเพราะพ่อแม่รักกันแล้วหนูก็เกิดขึ้นมาในท้องแม่ พอหนูตัวใหญ่แล้ว หนูก็ออกมาทางก้นแม่ (ถ้าโตหน่อยก็บอกว่าออกมาจากช่องคลอดได้ค่ะ) นอกจากนี้ ควรสอนถึงการปกป้องตัวเองไม่ให้ใครมาคุกคามทางเพศได้ เช่น การปกปิดของสงวนไม่ให้ใครเห็น และไม่ให้ใครมาจับ ถ้ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลให้บอกพ่อแม่ สอนว่าไม่ว่าใครจะขู่อย่างไร ให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่มีวิธีจัดการกับคนไม่น่ารักหรือคนไม่ดีนั้น ฯลฯ

กรณีเด็กมัธยม อาจเริ่มสอนจากหนังหรือละคร ชวนคุยถึงเรื่องการแต่งกาย คำพูด พฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของตัวละครต่างๆ สาเหตุที่ตัวละครแต่ละคนพูดหรือทำอย่างนั้น พร้อมทั้งชวนคุยว่าหากลูกอยู่ในสถานการณ์อย่างในละคร ลูกจะทำเหมือนหรือแตกต่างจากตัวละครอย่างไร วิเคราะห์ว่าตัวละครรู้สึกอย่างไรจึงพูดหรือทำอย่างนั้น พูดคุยถึงวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนเพศเดียวกันและต่างเพศ การรักษาความสัมพันธ์ที่ดี การจีบหรือคบกันอย่างเหมาะสม การวางตัวและการเอาตัวรอดในความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ การยอมรับและให้เกียรติเพศสภาพที่แตกต่างกัน

เด็กที่เริ่มสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์หรือมีแฟน อย่าสอนว่าเพศเป็นเรื่องน่าอายและผิดบาป เพราะจะส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนรักในอนาคต บางคนถึงขั้นเกลียดกลัวการมีแฟนหรือการมีเพศสัมพันธ์ไปเลย และกลายเป็นปมฝังลึกลงไปอีก กรณีที่ยกมาคุยในตอนนี้ เมื่อเด็กดูคลิปโป๊ อย่าเพิ่งดุด่าว่ากล่าว อาจสอนว่าสิ่งที่เห็นในคลิปเป็นการแสดงที่เว่อร์กว่าปกติ สอนการรู้ทันสื่อต่างๆ หรืออาจถามว่าดูแล้วรู้สึกอย่างไร ถ้าลูกตอบว่าดูแล้วรู้สึกซู่ซ่าหรือคึกคัก พ่อแม่ควรสอนว่าเป็นความรู้สึกปกติของคนที่ได้รับสิ่งเร้า และควรสอนเรื่องการจัดการอารมณ์ทางเพศของตัวเอง สอนการวางตัวเมื่ออยู่กับเพื่อนเพศตรงข้ามหรือคนรัก สอนว่าอารมณ์ทางเพศจะนำไปสู่อะไร และอาจนำมาซึ่งปัญหาอะไรบ้าง เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันคววร การถูกผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นำมาเป็นเครื่องมือต่อรอง การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ฯลฯ ขณะพูดคุยพ่อแม่ควรคุยปกติสนุกสนาน อย่าทำให้กลายเป็นการสั่งสอนอย่างจริงจัง ลูกจะอายหรือรู้สึกอึดอัดและไม่อยากคุยกับพ่อแม่เรื่องนี้อีก

ที่สำคัญ หากพ่อแม่ลูกมีความสนิทสนมใกล้ชิด และมีการทำกิจกรรมหรือพูดคุยกันอยู่เป็นประจำ ลูกก็จะไม่หมกมุ่นเรื่องเพศจนเกินไป เพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต เด็กในวัยเรียนหากมีความสนใจในเรื่องใดอย่างจริงจัง และพ่อแม่สนับสนุน เช่น เรื่องเรียน กีฬา ดนตรี ศิลปะ กิจกรรมต่างๆ พวกเขาจะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่ดีมีความสุข และไม่หมกมุ่นทางเพศจนเกินไปค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ.

กรีดข้อมือทำไม?

วันก่อนมีคุณผู้อ่านท่านหนึ่งพาลูกวัยรุ่นมัธยมต้นมารับคำปรึกษากับครูเคท เพราะลูกเครียดจัดและกรีดข้อมือที่โรงเรียน โชคดีที่แผลไม่ลึก เมื่อได้พูดคุยกัน น้องบอกว่ารู้สึกเครียดมาก ทั้งเรื่องเรียน เรื่องเพื่อน และเรื่องพ่อแม่ ได้คุยกับเพื่อนถึงความเครียด แต่เพื่อนๆ ไม่เข้าใจและบอกว่าเรื่องเล็กน้อย อย่าเก็บไปเครียดเลย ทำให้ข้างในใจน้องยิ่งเครียดมากขึ้น เพราะไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของตน ประกอบกับเมื่อสัปดาห์ก่อน มีเพื่อนคนหนึ่งเครียดเรื่องแฟนและได้กรีดข้อมือตัวเองเช่นกัน น้องเลยลองกรีดดูบ้าง เมื่อกรีดแล้ว น้องบอกว่ารู้สึกดีขึ้น ความเครียดลดลง

พฤติกรรมทำร้ายตัวเองของมนุษย์ คนที่ไม่เข้าใจก็มักจะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีเหตุผล บางส่วนก็มองว่าคนที่ทำ ทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ แต่จริงๆ แล้วเป็นความเจ็บปวดภายในใจที่มักจะเกิดสะสมมาจนถึงจุดที่เรียกว่าน้ำล้นแก้ว แต่คนคนนั้นอาจไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในใจของตน เพราะเรื่องที่กระตุ้นให้ต้องทำร้ายตัวเองอาจเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ได้ แต่ความเจ็บปวดสะสมฝังใจข้างในมันมากจนพร้อมระเบิด บางคนรู้สึกเจ็บปวดแต่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้แค่รู้สึกเจ็บลึกๆ หรืออึดอัด เมื่อไม่รู้ว่าความรู้สึกนั้นมันคืออะไรและไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร จึงเริ่มทำร้ายตัวเองด้วยการจิก กัด ทุบตี กรีด ฯลฯ เพื่อทำให้ความเจ็บปวดนั้นปรากฏออกมาบนร่างกายให้ตัวเองรับรู้ได้ และจิตของคนเรานั้น เมื่อเข้าใจว่าความรู้สึกที่เกิดอะไรขึ้นกับตัวเองคืออะไร จิตของเราจะทำการบำบัดตัวเองและคลายเครียดทันที เหมือนกับการที่เรากลุ้มใจ พอได้เข้าใจหรือคลิกกับเรื่องนั้นแล้ว เราก็จะหายเครียดได้ในทันที

บางคนไม่ได้ทำร้ายร่างกายตนเอง แต่มักทำร้ายจิตใจตนเองซ้ำๆ ด้วยการจมดิ่งอยู่ในปัญหาเดิมๆ ไม่ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่าไม่เจ็บ แต่ความเจ็บปวดที่ได้จากปัญหานั้นๆ มันไม่เจ็บรุนแรงเหมือนความเจ็บปวดที่สะสมเอาไว้ จึงยอมที่จะเจ็บปวดใจซ้ำๆ ดีกว่าการเผชิญหน้ากับรากของความเจ็บปวด เช่น คนที่มีปมปัญหากับพ่อแม่ในวัยเด็กที่สะสมมาเป็นเวลานาน เมื่อโตขึ้นมักจะพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เจ็บปวดกับคนรักและยอมเจ็บซ้ำๆ เพราะความเจ็บปวดจากคนรักยังพอสัมผัสได้ เข้าใจได้ แต่ความเจ็บปวดสะสมจากครอบครัวมันลึกมากจนไม่สามารถอธิบาย หรือเข้าใจได้ว่าคืออะไร และไม่อยากขุดขึ้นมาดูด้วย เพราะรู้ว่าจะเจ็บปวดมาก บางทีคนที่ยอมเจ็บปวดซ้ำในชีวิตปัจจุบัน อาจจะกำลังบำบัดตัวเองจากแผลลึกในอดีตโดยไม่รู้ตัวก็ได้

กลับมาดูกรณีของน้องที่พูดถึงข้างต้น สาเหตุที่น้องเครียดนั้นคือ การเรียนที่หนักเกินไป จนบริหารจัดการเวลาไม่ได้ จึงกังวลว่าจะถูกครูดุหรือตัดคะแนนที่ไม่ส่งงาน และยังกลัวพ่อแม่ว่า รวมทั้งมีปัญหากับเพื่อน ฯลฯ ฟังดูเหตุผลเหล่านี้เป็นเรื่องเครียดปกติที่เด็กมัธยมมักจะเจอ แต่อะไรทำให้น้องคนนี้มีความเครียดมากกว่าเด็กคนอื่นๆ เมื่อพูดคุยกับน้องจึงพบว่าแพทเทิร์นความคิดของน้องเป็นคนมองอะไรมุมเดียว และมักตีความทุกคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นว่าคนอื่นไม่ชอบตัวเอง จึงสะสมเป็นความเครียด เช่น น้องบอกว่าครูบอกว่าใครส่งงานไม่ครบครูจะบอกผู้ปกครอง ซึ่งเรื่องนี้น้องเครียดมากและคิดต่อไปว่าเพราะตัวเองส่งงานไม่ครบ ครูก็จะมีอคติกับตัวเองด้วย ตรรกะอย่างนี้เป็นตรรกะที่พังเพราะเจ้าตัว เพราะเห็นภาพมุมเดียว เมื่อสอบถามต่อ พบว่าครูบอกนักเรียนทุกคนในห้องเพราะมีคนส่งงานไม่ครบหลายคน ไม่ได้เจาะจงที่น้องเพียงคนเดียว แต่น้องกลุ้มใจจนเครียดไปแล้วว่าครูไม่ชอบตนเอง และถ้าครูไปบอกพ่อแม่ตัวเองก็จะโดนดุ

ในยุคนี้ จะพบเคสวัยรุ่นเครียดและทำร้ายตัวเองมากขึ้น เพราะการมองโลกในมุมเดียว หรือการตัดสินทุกอย่างแค่สองด้านคือ ขาวกับดำ หรือเทา แต่ไม่สามารถคิดถึงสีอื่นๆเช่น แดง เหลือง น้ำเงินได้ จึงทำให้โลกของเขามีแต่ทางตัน พ่อแม่ผู้ปกครองควรสอนทักษะความยืดหยุ่นทางสังคมให้กับบุตรหลานด้วย ไม่ใช่รอแก้ปลายเหตุของความเครียดด้วยการทานยา

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ.