Month: May 2023

ไม่อยากเรียนตามที่พ่อแม่ต้องการ

มีน้องผู้อ่านเขียนมาปรึกษาครูเคทในแฟนเพจ kate inspirer ว่า “…ตอนนี้หนูเครียดมาก อยากจะปรึกษาปัญหาที่ว่าพ่อแม่อยากให้หนูเป็นหมอ แต่ดูเหมือนว่าหนูก็ไม่ได้ชอบทางนี้เลย แต่ไม่รู้ว่าจะบอกพวกเขายังไงค่ะ…”

ก่อนที่จะตอบน้องว่าควรบอกคุณพ่อคุณแม่อย่างไร ขออธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจก่อนว่าอาชีพในยุคปัจจุบันนั้นมีมากมายกว่ายุคที่คุณพ่อคุณแม่ยังเรียนอยู่ และต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเรียนอะไร แน่นอนว่าในยุคนั้น หมอและวิศวกรเป็นอาชีพในฝันของทุกคน เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง รายได้ดี และมีเกียรติ แต่ในโลกปัจจุบันของเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้น การทำงานประจำกินเงินเดือนดูจะห่างไกลจากความฝันของพวกเขาอยู่มาก เยาวชนในยุคนี้ต้องการงานที่มีอิสระ เป็นนายตัวเอง เพราะทั้งชีวิตเขาถูกผู้ใหญ่คอยชี้นำจนเขาไม่รู้แล้วว่าตัวของเขาเองชอบอะไรหรืออยากเป็นอะไรจริงๆ นอกจากนี้ การที่เยาวชนในยุคนี้ไม่ต้องการทำงานองค์กรใหญ่ๆ ก็เพราะกลัวการถูกตีกรอบ ถูกจับตามอง ถูกเปรียบเทียบ และถูกประเมินว่าเก่งไม่เก่ง ดีไม่ดี เหมือนกับที่เขาได้รับจากครอบครัว จึงทำให้เมื่อเรียนจบมา ก็ไม่อยากสมัครงานที่ใด แต่พยายามจะสร้างงานอิสระให้กับตัวเอง

การถูกชี้นำโดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจจะชี้นำ ทำให้น้องๆ หลายคนเกิดการกดข่มความฝันหรือถอดใจในการที่จะเดินตามความฝันของเขา และกลายเป็นคนที่ไม่มีความฝัน หรือไม่มี passion หรือแรงขับเคลื่อนในการดำเนินชีวิตตามที่พวกเขาต้องการ ปัญหาที่ทั้งพ่อแม่และน้องๆ มาปรึกษาครูเคทบ่อยมากในปัจจุบันคือ ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร ไม่รู้ว่าอยากทำอะไร น่าเสียดายที่น้องๆ ในวัยเรียนนี้น่าจะเป็นวัยที่ควรสนอกสนใจเรียนรู้อะไรในเชิงลึกและกว้าง แต่ในยุคที่สังคมมีการแข่งขันสูง พ่อแม่ที่มีความวิตกกังวลต่ออนาคตของลูกมากเกินไป อาจเผลอครอบงำความคิดลูกโดยไม่รู้ตัว

บ้านใดที่ลูกๆ ตอบไม่ได้ว่าจะเรียนอะไร จะทำอะไร ขอให้ลองถอยกลับมามองดูว่าการเลี้ยงดูลูกๆ ที่ผ่านมา เคยได้ปล่อยให้เขาได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง ค้นหาตัวเองบ้างหรือไม่ หรือทุกอย่างถูกคิดถูกจัดตาราง ถูกป้องกันปัญหาไว้ให้เขาเรียบร้อยแล้ว ลูกเคยได้ลองผิดลองถูกบ้างหรือไม่ ลูกได้เคยล้มเหลวแล้วลุกขึ้นเองโดยพ่อแม่ไม่ต้องช่วยบ้างหรือไม่ บางบ้านมักบอกว่าไม่เคยครอบงำ ให้ลูกตัดสินใจอะไรเอง แต่พ่อแม่เป็นคนชี้นำทางเลือกให้ลูกเลือกเอง หรือคอยประเมินการกระทำของลูกอยู่เสมอหรือไม่ หรือไม่ได้ฟังการตัดสินใจของลูกด้วยความเคารพในมุมมองของลูก แต่เผลอฟังด้วยความวิตกกังวลหรือไม่ บางทีปฏิกิริยาของพ่อแม่ที่มีต่อการตัดสินใจของลูก อาจทำให้ลูกกลัวที่จะบอกหรือปรึกษาอะไรกับพ่อแม่ เหมือนอย่างในกรณีน้องผู้อ่านที่เขียนมาถามนี้ก็ได้

ข้อแนะนำในการพูดคุยเรื่องสำคัญระหว่างพ่อแม่ลูกคือ แทนที่ต่างคนต่างพูดความต้องการและจุดยืนของตัวเอง พร้อมทั้งคำอธิบาย เหตุผลต่างๆ นานาเพื่อที่จะจูงใจให้อีกฝ่ายเชื่อหรือยอมตาม แต่ละฝ่ายควรพูดถึงความวิตกกังวลของตนเองออกมาให้ทุกคนเข้าใจด้วย เพื่อที่การสนทนาจะครอบคลุมถึงการช่วยการแก้ปัญหาหรือลดความวิตกกังวลของกันและกัน ไม่ใช่การเอาชนะให้ได้ตามจุดยืนของตัวเอง เช่น น้องที่ไม่อยากเป็นหมอ ควรพูดถึงความรู้สึกหรือความกังวลของตัวเองหากต้องเป็นหมอ (ไม่ใช่พูดว่าตัวเองไม่ชอบเป็นหมอ แต่อยากเป็นอย่างอื่น อาชีพที่อยากเป็นให้พูดในภายหลัง) ส่วนพ่อแม่ก็ควรพูดถึงความกังวลของตัวเองในการที่ลูกไม่ได้เป็นหมอ (ไม่ใช่พูดว่าทำไมลูกควรเป็นหมอ) ฟังดูอาจจะงงๆ บ้าง เพราะเราไม่เคยชินที่จะพูดในมุมที่เราไม่เคยมอง แต่ลองดูเถอะค่ะ แล้วจะแฮปปี้เอนดิ้งทั้งพ่อแม่ลูก

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ลูกแอบดูคลิปโป๊ทำอย่างไรดี

ช่วงนี้มีคุณผู้อ่านอินบ็อกซ์เข้ามาในเพจ kate inspirer เล่าว่าลูกชายวัยเริ่มรุ่นแอบดูคลิปโป๊จะทำอย่างไรดี ก่อนอื่นพ่อแม่ผู้ปกครองอย่าคิดว่าเราสอนเรื่องเพศกับลูกไม่ได้ หรือการสอนเพศศึกษาเป็นเรื่องน่าอาย กระดากปาก หรือกลัวว่าจะเป็นการส่งเสริมลูกให้หมกมุ่นในเรื่องเพศ หลายครอบครัวโบ้ยให้เป็นหน้าที่ครูที่โรงเรียน ความจริงพ่อแม่มีหน้าที่สอนลูกถึงการดำเนินชีวิตพื้นฐาน “กิน ขี้ ปี้ นอน” (ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพ) ดังนั้น พ่อแม่สามารถสอนลูกเรื่องเพศ เหมือนการสอนเรื่องต่างๆ ได้ อะไรรู้ก็บอก อะไรไม่รู้ก็ไปหาข้อมูลมาสนทนา สอนเพื่อให้ลูกฝึกหาคำตอบและฝึกคิดด้วยตัวเอง

การสอนเด็กเล็ก เริ่มสอนให้เขาเข้าใจตนเองว่าเป็นเด็กผู้หญิงหรือชาย สอนความแตกต่างของเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชาย ห้องน้ำหญิงกับชายต้องแยกกันเพราะวิธีการฉี่ไม่เหมือนกัน การรักษาความสะอาด หรือ หนูเกิดมาเพราะพ่อแม่รักกันแล้วหนูก็เกิดขึ้นมาในท้องแม่ พอหนูตัวใหญ่แล้ว หนูก็ออกมาทางก้นแม่ (ถ้าโตหน่อยก็บอกว่าออกมาจากช่องคลอดได้ค่ะ) นอกจากนี้ ควรสอนถึงการปกป้องตัวเองไม่ให้ใครมาคุกคามทางเพศได้ เช่น การปกปิดของสงวนไม่ให้ใครเห็น และไม่ให้ใครมาจับ ถ้ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลให้บอกพ่อแม่ สอนว่าไม่ว่าใครจะขู่อย่างไร ให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่มีวิธีจัดการกับคนไม่น่ารักหรือคนไม่ดีนั้น ฯลฯ

กรณีเด็กมัธยม อาจเริ่มสอนจากหนังหรือละคร ชวนคุยถึงเรื่องการแต่งกาย คำพูด พฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของตัวละครต่างๆ สาเหตุที่ตัวละครแต่ละคนพูดหรือทำอย่างนั้น พร้อมทั้งชวนคุยว่าหากลูกอยู่ในสถานการณ์อย่างในละคร ลูกจะทำเหมือนหรือแตกต่างจากตัวละครอย่างไร วิเคราะห์ว่าตัวละครรู้สึกอย่างไรจึงพูดหรือทำอย่างนั้น พูดคุยถึงวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนเพศเดียวกันและต่างเพศ การรักษาความสัมพันธ์ที่ดี การจีบหรือคบกันอย่างเหมาะสม การวางตัวและการเอาตัวรอดในความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ การยอมรับและให้เกียรติเพศสภาพที่แตกต่างกัน

เด็กที่เริ่มสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์หรือมีแฟน อย่าสอนว่าเพศเป็นเรื่องน่าอายและผิดบาป เพราะจะส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนรักในอนาคต บางคนถึงขั้นเกลียดกลัวการมีแฟนหรือการมีเพศสัมพันธ์ไปเลย และกลายเป็นปมฝังลึกลงไปอีก กรณีที่ยกมาคุยในตอนนี้ เมื่อเด็กดูคลิปโป๊ อย่าเพิ่งดุด่าว่ากล่าว อาจสอนว่าสิ่งที่เห็นในคลิปเป็นการแสดงที่เว่อร์กว่าปกติ สอนการรู้ทันสื่อต่างๆ หรืออาจถามว่าดูแล้วรู้สึกอย่างไร ถ้าลูกตอบว่าดูแล้วรู้สึกซู่ซ่าหรือคึกคัก พ่อแม่ควรสอนว่าเป็นความรู้สึกปกติของคนที่ได้รับสิ่งเร้า และควรสอนเรื่องการจัดการอารมณ์ทางเพศของตัวเอง สอนการวางตัวเมื่ออยู่กับเพื่อนเพศตรงข้ามหรือคนรัก สอนว่าอารมณ์ทางเพศจะนำไปสู่อะไร และอาจนำมาซึ่งปัญหาอะไรบ้าง เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันคววร การถูกผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นำมาเป็นเครื่องมือต่อรอง การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ฯลฯ ขณะพูดคุยพ่อแม่ควรคุยปกติสนุกสนาน อย่าทำให้กลายเป็นการสั่งสอนอย่างจริงจัง ลูกจะอายหรือรู้สึกอึดอัดและไม่อยากคุยกับพ่อแม่เรื่องนี้อีก

ที่สำคัญ หากพ่อแม่ลูกมีความสนิทสนมใกล้ชิด และมีการทำกิจกรรมหรือพูดคุยกันอยู่เป็นประจำ ลูกก็จะไม่หมกมุ่นเรื่องเพศจนเกินไป เพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต เด็กในวัยเรียนหากมีความสนใจในเรื่องใดอย่างจริงจัง และพ่อแม่สนับสนุน เช่น เรื่องเรียน กีฬา ดนตรี ศิลปะ กิจกรรมต่างๆ พวกเขาจะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่ดีมีความสุข และไม่หมกมุ่นทางเพศจนเกินไปค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ.

กรีดข้อมือทำไม?

วันก่อนมีคุณผู้อ่านท่านหนึ่งพาลูกวัยรุ่นมัธยมต้นมารับคำปรึกษากับครูเคท เพราะลูกเครียดจัดและกรีดข้อมือที่โรงเรียน โชคดีที่แผลไม่ลึก เมื่อได้พูดคุยกัน น้องบอกว่ารู้สึกเครียดมาก ทั้งเรื่องเรียน เรื่องเพื่อน และเรื่องพ่อแม่ ได้คุยกับเพื่อนถึงความเครียด แต่เพื่อนๆ ไม่เข้าใจและบอกว่าเรื่องเล็กน้อย อย่าเก็บไปเครียดเลย ทำให้ข้างในใจน้องยิ่งเครียดมากขึ้น เพราะไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของตน ประกอบกับเมื่อสัปดาห์ก่อน มีเพื่อนคนหนึ่งเครียดเรื่องแฟนและได้กรีดข้อมือตัวเองเช่นกัน น้องเลยลองกรีดดูบ้าง เมื่อกรีดแล้ว น้องบอกว่ารู้สึกดีขึ้น ความเครียดลดลง

พฤติกรรมทำร้ายตัวเองของมนุษย์ คนที่ไม่เข้าใจก็มักจะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีเหตุผล บางส่วนก็มองว่าคนที่ทำ ทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ แต่จริงๆ แล้วเป็นความเจ็บปวดภายในใจที่มักจะเกิดสะสมมาจนถึงจุดที่เรียกว่าน้ำล้นแก้ว แต่คนคนนั้นอาจไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในใจของตน เพราะเรื่องที่กระตุ้นให้ต้องทำร้ายตัวเองอาจเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ได้ แต่ความเจ็บปวดสะสมฝังใจข้างในมันมากจนพร้อมระเบิด บางคนรู้สึกเจ็บปวดแต่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้แค่รู้สึกเจ็บลึกๆ หรืออึดอัด เมื่อไม่รู้ว่าความรู้สึกนั้นมันคืออะไรและไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร จึงเริ่มทำร้ายตัวเองด้วยการจิก กัด ทุบตี กรีด ฯลฯ เพื่อทำให้ความเจ็บปวดนั้นปรากฏออกมาบนร่างกายให้ตัวเองรับรู้ได้ และจิตของคนเรานั้น เมื่อเข้าใจว่าความรู้สึกที่เกิดอะไรขึ้นกับตัวเองคืออะไร จิตของเราจะทำการบำบัดตัวเองและคลายเครียดทันที เหมือนกับการที่เรากลุ้มใจ พอได้เข้าใจหรือคลิกกับเรื่องนั้นแล้ว เราก็จะหายเครียดได้ในทันที

บางคนไม่ได้ทำร้ายร่างกายตนเอง แต่มักทำร้ายจิตใจตนเองซ้ำๆ ด้วยการจมดิ่งอยู่ในปัญหาเดิมๆ ไม่ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่าไม่เจ็บ แต่ความเจ็บปวดที่ได้จากปัญหานั้นๆ มันไม่เจ็บรุนแรงเหมือนความเจ็บปวดที่สะสมเอาไว้ จึงยอมที่จะเจ็บปวดใจซ้ำๆ ดีกว่าการเผชิญหน้ากับรากของความเจ็บปวด เช่น คนที่มีปมปัญหากับพ่อแม่ในวัยเด็กที่สะสมมาเป็นเวลานาน เมื่อโตขึ้นมักจะพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เจ็บปวดกับคนรักและยอมเจ็บซ้ำๆ เพราะความเจ็บปวดจากคนรักยังพอสัมผัสได้ เข้าใจได้ แต่ความเจ็บปวดสะสมจากครอบครัวมันลึกมากจนไม่สามารถอธิบาย หรือเข้าใจได้ว่าคืออะไร และไม่อยากขุดขึ้นมาดูด้วย เพราะรู้ว่าจะเจ็บปวดมาก บางทีคนที่ยอมเจ็บปวดซ้ำในชีวิตปัจจุบัน อาจจะกำลังบำบัดตัวเองจากแผลลึกในอดีตโดยไม่รู้ตัวก็ได้

กลับมาดูกรณีของน้องที่พูดถึงข้างต้น สาเหตุที่น้องเครียดนั้นคือ การเรียนที่หนักเกินไป จนบริหารจัดการเวลาไม่ได้ จึงกังวลว่าจะถูกครูดุหรือตัดคะแนนที่ไม่ส่งงาน และยังกลัวพ่อแม่ว่า รวมทั้งมีปัญหากับเพื่อน ฯลฯ ฟังดูเหตุผลเหล่านี้เป็นเรื่องเครียดปกติที่เด็กมัธยมมักจะเจอ แต่อะไรทำให้น้องคนนี้มีความเครียดมากกว่าเด็กคนอื่นๆ เมื่อพูดคุยกับน้องจึงพบว่าแพทเทิร์นความคิดของน้องเป็นคนมองอะไรมุมเดียว และมักตีความทุกคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นว่าคนอื่นไม่ชอบตัวเอง จึงสะสมเป็นความเครียด เช่น น้องบอกว่าครูบอกว่าใครส่งงานไม่ครบครูจะบอกผู้ปกครอง ซึ่งเรื่องนี้น้องเครียดมากและคิดต่อไปว่าเพราะตัวเองส่งงานไม่ครบ ครูก็จะมีอคติกับตัวเองด้วย ตรรกะอย่างนี้เป็นตรรกะที่พังเพราะเจ้าตัว เพราะเห็นภาพมุมเดียว เมื่อสอบถามต่อ พบว่าครูบอกนักเรียนทุกคนในห้องเพราะมีคนส่งงานไม่ครบหลายคน ไม่ได้เจาะจงที่น้องเพียงคนเดียว แต่น้องกลุ้มใจจนเครียดไปแล้วว่าครูไม่ชอบตนเอง และถ้าครูไปบอกพ่อแม่ตัวเองก็จะโดนดุ

ในยุคนี้ จะพบเคสวัยรุ่นเครียดและทำร้ายตัวเองมากขึ้น เพราะการมองโลกในมุมเดียว หรือการตัดสินทุกอย่างแค่สองด้านคือ ขาวกับดำ หรือเทา แต่ไม่สามารถคิดถึงสีอื่นๆเช่น แดง เหลือง น้ำเงินได้ จึงทำให้โลกของเขามีแต่ทางตัน พ่อแม่ผู้ปกครองควรสอนทักษะความยืดหยุ่นทางสังคมให้กับบุตรหลานด้วย ไม่ใช่รอแก้ปลายเหตุของความเครียดด้วยการทานยา

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ.

คู่ชายรักชายที่ชอบทะเลาะและเอาชนะกัน

วันก่อนมีคุณผู้อ่านเพศชายท่านหนึ่งเข้ามารับคำปรึกษาเรื่องคนรักที่เป็นชายรักชายเหมือนกัน ทั้งคู่ทำงานที่เดียวกัน และมีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดกัน คือทั้งคู่จะแข่งกันเอาชนะหรือเอาหน้ากันในเรื่องงาน มักจะทะเลาะกันเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งมีชัยชนะเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งคู่เดี๋ยวก็รักกัน เดี๋ยวก็เลิกกัน แฟนของคุณผู้ชายคนนี้ชอบเอาชนะด้วยการใช้อารมณ์ โมโหร้าย ไม่มีเหตุผล มองโลกแคบ ยึดความคิดเดิมๆ ของตนเองเป็นสำคัญ ไม่ฟังใคร และจะรับไม่ได้เลยหากถูกปฏิเสธ เขาทำตัวเหมือนเขาเก่งที่สุดในโลก แต่ก็ไม่รู้ทำไมชายคนที่มาปรึกษาครูเคทยังคงรักแฟนหนุ่มของเขา ทั้งๆ ที่ต้องเจ็บปวดใจอยู่บ่อยครั้ง

เขาเป็นฝ่ายยอมแฟนของเขาทุกครั้ง เพราะไม่อยากให้แฟนโกรธและจากไป เหมือนทุกครั้งที่ทะเลาะกันแรงๆ แฟนจะเป็นฝ่ายหายไปนานๆ เมื่ออารมณ์ดีแล้วจึงจะกลับมาคุยกัน แต่ความสัมพันธ์อย่างนี้ดำเนินไป 3-4 ปีแล้ว ในวันนี้เขาจึงตัดสินใจที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าโดยไม่มีแฟนอยู่เคียงข้าง เพราะเขาเหนื่อยกับความสัมพันธ์อย่างนี้ แต่พอตัดสินใจแล้ว เขาก็กลับทำไม่ได้ ยังคงพยายามกลับไปคุยกับแฟน และก็รู้ว่าจะไม่มีอะไรดีขึ้น

ที่ขอเขียนเรื่องนี้ เพราะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกชายที่ทำให้ลูกชายกลายเป็นชายรักชาย และความพยายามในการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของชายรักชายคู่นี้

ชายคนนี้เล่าว่าพ่อของเขาเติบโตในครอบครัวใหญ่ มีลูกมาก พ่อเป็นลูกชายคนเล็กที่ปู่รักมากที่สุด แต่กลับเป็นคนที่ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นคนที่ชอบใช้กำลัง ขี้โมโห และมองโลกในแง่ร้ายเสมอ เวลาเขาทำอะไรผิด พ่อจะลงโทษเขาอย่างรุนแรงมากแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บทจะรักลูกก็ดีใจหายสรรหาของมาประเคนให้ลูก เขารับไม่ได้ที่พ่อเป็นคนไม่มีเหตุมีผลอย่างนี้ แต่เขาก็บอกไม่ได้ว่าเขาเกลียดพ่อหรือรักพ่อ

แต่จากภาพของจิตของเขาทำให้เริ่มเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของเขาที่มีต่อคนรัก เขาเลือกคนรักที่มีความคล้ายคลึงพ่อของเขา เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป หรือสิ่งที่เขาพยายามจะเข้าใจ นั่นคือ ความรักระหว่างเขากับพ่อของเขา จิตใต้สำนึกของเขากำลังรักผู้ชายคนที่เป็นเสมือนตัวแทนพ่อของเขา ความพยายามเข้าใจแฟนของเขาคือความพยายามเข้าใจพ่อของเขา เขาบอกว่าเวลาอยู่กับแฟนเขารู้สึกอบอุ่นในหัวใจ นั่นคือความอบอุ่นที่เขาอยากได้จากพ่อของเขา และสิ่งนี้ทำให้เขาเป็นฝ่ายหยวนยอมแฟนของเขา เพราะไม่อยากขัดใจหรือทะเลาะกัน เพราะแฟนของเขาเกลียดการปฏิเสธ เขาต้องยอม และหากเราทำความเข้าใจแฟนของเขาที่ชอบเขาก็เพราะว่าแฟนรู้ว่าจะไม่ถูกปฏิเสธจากเขานั่นเอง

ดูเหมือนคู่นี้น่าจะเป็นคู่ที่เหมาะกันมาก แต่จริงๆ แล้ว นี่เป็นคู่ที่พบได้บ่อยทั้งคู่ชายหญิง ชายชาย และ หญิงหญิง ที่ขาดและพยายามเติมเต็มด้วยการหาแฟนที่เป็นภาพทับซ้อนของพ่อหรือแม่ที่เขาต้องการรักและถูกรัก คู่ที่เป็นอย่างนี้จึงเป็นความรักที่ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะคนขาดสองคนมาเจอกัน ต่างฝ่ายต่างคาดหวังหรือใช้ให้อีกฝ่ายเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป จึงเป็นความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ใจมากมายแต่อบอุ่นหัวใจ (แบบแปลกๆ)

อย่างไรก็ตาม ความรักที่ควรจะเป็นต้องมีความรากฐานมาจากความเข้าใจ ความเมตตา และความห่วงใยกันและกัน สำหรับคนที่ขาดหรือสงสัยในความรักของคุณกับพ่อแม่ แทนที่จะพยายามหาใครสักคนมาให้รักแทนพ่อแม่ คุณควรเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป ด้วยการลดทิฐิส่วนตัว แล้วสานสัมพันธ์ใหม่กับพ่อแม่ แม้พ่อแม่จะมีทิฐิมานะมากแค่ไหน นี่คือสิ่งที่ลูกควรทำ หากลูกลดอัตตาและทิฐิลงก่อนและเป็นฝ่ายเข้าหาพ่อแม่ เราสามารถทำให้พ่อแม่ที่อาจมีปัญหาอะไรในใจ ได้เริ่มเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของท่าน (อย่าลืมว่าพ่อแม่ก็เป็นคนธรรมดาที่มีปมปัญหาในชีวิตเช่นกัน) ในที่สุดแล้วไม่มีพ่อแม่คนไหนที่จะอยู่กับทิฐิและปฏิเสธลูกไปจนวันตาย หากความรักความสัมพันธ์ของคนเรากับพ่อแม่ของเราถูกเติมเต็มแล้ว เราจะกลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยความรักความเมตตา สามารถรักตัวเองและรักผู้อื่นได้อย่างมีความสุขที่แท้จริงค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

เกิดมาไฮเปอร์สมาธิสั้นแล้วทำไมโตมีโอกาสซึมเศร้าด้วย

วันก่อนมีหนุ่มน้อยนักศึกษามหาวิทยาลัยเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคท ถึงอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นมาได้ 2 ปีครึ่งแล้ว และรักษากับจิตแพทย์ด้วยการทานยาอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้เกิดอาการจิตตก โหวงๆ ข้างใน หัวใจเต้นเร็ว ไม่อยากทำอะไร ซึ่งในกรณีอย่างนี้ควรรีบกลับไปพบแพทย์ผู้รักษาเพื่อทำการปรับยาที่รักษา และพบนักจิตวิทยาเพื่อปรับกระบวนการคิดที่นำไปสู่อาการซึมเศร้า เมื่อได้ซักถามประวัติของน้อง พบว่าน้องเป็นเด็กไฮเปอร์ที่ซนมากตั้งแต่เล็กๆ ซนมาก ชอบวิ่งไปมา นั่งเรียนนิ่งๆ ไม่ได้ จะมีอาการง่วงนอน แล้วก็จะถูกครูดุที่พูดมาก หรือซน หรือหลับในห้องเรียน น้องมักจะขอครูไปเข้าห้องน้ำ หรือไปดื่มน้ำอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้น้องยังมีอาการสมาธิสั้น ทำอะไรไม่ค่อยเสร็จ พ่อแม่หรือครูต้องคอยกระตุ้น ทำการบ้านก็ห่วงเล่น หรือต้องลุกไปนู่นนี่แล้วจึงกลับมาทำ แต่น้องเป็นคนหัวดีมาก เรียนเก่ง ตอนนี้เรียนวิศวะ

ที่น้องเริ่มมีอาการซึมเศร้า เพราะคิดว่าการเรียนหนัก และน้องมีความเครียดในการเรียน ซึ่งต้องการจะทำเกรดให้ได้ดี มีความคิดอยู่เสมอว่าทำอะไรต้องทำให้ได้ดี ทำอะไรเสร็จแล้วก็มักจะกลับมาดูแล้วคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ นอกจากนี้น้องยังมีลักษณะการตีความคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นไปในทางลบต่อตัวเองอยู่เสมอ เช่น เพื่อนทักว่าเห็นน้องอ่านหนังสือมาเต็มที่ ทำไมได้คะแนนแค่นี้ น้องเข้าใจว่าเพื่อนกำลังว่าน้อง หรือดูถูกน้อง แสดงให้เห็นว่าน้องเข้าใจโลกเพียงด้านเดียว แต่พอได้พูดคุยกันและฝึกให้น้องเข้าใจเจตนารมณ์ที่เป็นไปได้หลายทางของเพื่อนที่พูดอย่างนั้น ทำให้น้องเริ่มคลายเครียด เพราะเข้าใจได้ใหม่ว่าเพื่อนไม่ได้ว่าอะไร เป็นการถามไถ่ด้วยความสงสัยเท่านั้น

ปัจจุบันมักพบคนที่เป็นสมาธิสั้น หรือ ไฮเปอร์ตั้งแต่เด็กๆ เมื่อโตขึ้นมักมีอาการซึมเศร้าตามมาด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะในวัยเด็กมักจะถูกผู้ใหญ่ดุ ตำหนิ เปรียบเทียบ หรือห้ามในเรื่องต่างๆ อยู่บ่อยๆ ทำให้เด็กซึ่งไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรกับตัวเขา เขาไม่เข้าใจว่าเพราะคลื่นสมองที่ไม่เสถียรทำให้เขาซน ยุกยิก หรือแม้แต่ง่วงเหงาหาวนอน ทำให้เขาเข้าใจว่าเขาเป็นเด็กไม่ดี ไม่เก่ง ทำอะไรก็ถูกว่าอยู่เสมอ ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกด้อย กังวลใจ ขาดความเชื่อมั่น และมองโลกในแง่ลบต่อตัวเองโดยไม่รู้ตัว และกลายเป็นความเครียดสะสมจนอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสอนการควบคุมคลื่นสมองและสภาวะอารมณ์ให้เป็นปกติ โดยให้เด็กหัดสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองบ่อยๆ เมื่อรับรู้ความผิดปกติที่ปรากฏสัญญาณบนร่างกาย เช่น ใจเต้นแรง ร้อน กล้ามเนื้อเกร็ง รู้สึกโหวงๆ ข้างใน ฯลฯ ให้รับรู้และผ่อนคลายบริเวณนั้น หรือรอคอยอย่างใจเย็นให้สัญญาณเหล่านั้นค่อยๆ หายไป ฝึกปรับอารมณ์ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้ นับ 1-2-3 หายใจออกยาวๆพร้อมกับคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง อารมณ์จะดีขึ้น การยิ้มหรือหัวเราะบ่อยๆ จะช่วยเพิ่มสารแห่งความสุขในสมอง หากจะฝึกสมาธิควรฝึกสมาธิแบบเคลื่อนไหว เช่น ในขณะออกกำลังกายให้สังเกตการเคลื่อนไหว ความตึง หด ของกล้ามเนื้อ การถ่ายน้ำหนักขณะเคลื่อนไหว ก็จะช่วยเพิ่มสมาธิได้ดี นอกจากนี้ ควรดูแลปรับเพิ่มสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสภาวะอารมณ์ เช่น วิตามิน B สังกะสี แมกนีเซียม อาหารที่มีโปรตีนสูง โอเมก้า 3 งดอาหารที่มีสารกระตุ้นสมอง เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และวางโทรศัพท์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีพลังงานให้ห่างตัวให้มากที่สุดตอนนอนค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

พลังของพ่อแม่ทำให้หนูไฮเปอร์มากขึ้น

ช่วงนี้มีคุณผู้อ่านอินบ็อกซ์เข้ามาในเพจ kate inspirer ถามเกี่ยวกับวิธีรับมือกับลูกๆ ที่ไฮเปอร์และสมาธิสั้นกันหลายคน ในตอนก่อนๆ ที่ผ่านมา ครูเคทได้เขียนถึงเด็กไฮเปอร์และสมาธิสั้นไปหลายตอนแล้ว ครั้งนี้เลยขอเขียนเกี่ยวกับคุณพ่อคุณแม่บ้าง เพราะส่วนใหญ่มักจะมุ่งแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูก เพราะเชื่อว่าปัญหาอยู่ที่ลูก ต้องแก้ที่ลูก จนไม่ได้ตระหนักว่าคลื่นสมองของพ่อแม่สามารถส่งคลื่นรบกวนคลื่นสมองของลูกด้วย

สมัยที่ครูเคทเรียนจิตวิทยา อาจารย์ท่านหนึ่งได้สอนว่าทุกครั้งที่เจอผู้มารับคำปรึกษาต้องสอบถามพูดคุยและสังเกตกิริยาท่าทาง ฯลฯ ก่อนที่จะลงความเห็นว่าเขามีปัญหาหรือความผิดปกติใด แต่อาจารย์ได้พูดติดตลกว่ามีข้อยกเว้นสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แค่คนไข้ซึมเศร้าเดินเข้ามาในห้องเราจะสามารถสัมผัสพลังเศร้าหมองได้ทันที ซึ่งตอนเรียนครูเคทก็คิดว่าอาจารย์พูดตลก แต่พอตอนที่ไปฝึกงานกับจิตแพทย์ มีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจารย์หมอนึกว่าไม่มีคนไข้แล้ว จึงนั่งพูดคุยกับครูเคทอย่างสนุกสนานและทันใดนั้น เราทั้งสองคนหยุดหัวเราะกันกลางอากาศโดยไม่ได้นัดหมาย และรู้สึกงงๆ ว่าหยุดหัวเราะทำไม แต่พอเราหันไปทางประตู ปรากฏว่ามีคนไข้ตกค้างอยู่หนึ่งคนซึ่งเข้ามายืนเงียบๆ ในห้องนานแล้ว พออาจารย์ได้วินิจฉัยพบว่าคนไข้ท่านนั้นเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ครูเคทย้อนกลับไปนึกถึงคำพูดอาจารย์จิตวิทยาที่เคยบอกว่าเราจะสัมผัสความซึมเศร้าจากคนไข้ซึมเศร้าได้ก่อนที่จะได้พูดคุยกับคนไข้ด้วยซ้ำไป แสดงว่าในตอนนั้น ครูเคทกับอาจารย์หมอสัมผัสพลังซึมเศร้าของคนไข้ได้โดยไม่รู้ตัวและพลังนั้นขัดกับพลังเบิกบานที่เรากำลังหัวเราะกันอยู่ จึงเกิดการหยุดค้างแบบงงๆ

เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงมีประสบการณ์ตรงอย่างนี้ในครอบครัวอยู่แล้ว เช่น เวลาลูกกำลังหงุดหงิดแหกปากร้องไห้ พ่อแม่ก็จะเผลอหงุดหงิดหนักกว่าลูกเพราะกำลังกังวลว่าทำอย่างไรให้ลูกหยุดร้อง นั่นคือการรับส่งพลังงานระหว่างกันและกัน จึงทำให้พลังงานแห่งความโมโหทวีคูณขึ้นมากกว่าปกติ หรือ เวลาแฟนสาวน้อยใจร้องไห้ ฝ่ายชายรู้สึกกังวลใจไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะใจอยากปลอบให้เธอหยุดร้องไห้ พลังแห่งความกังวลใจของฝ่ายชายจะไปผสมกับพลังแห่งความน้อยใจเสียใจของฝ่ายหญิง ก็เลยยิ่งร้องไห้หนักขึ้น และอาจมีตัดพ้อต่อว่าหนักขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น

ในกรณีที่ลูกเป็นเด็กไฮเปอร์ ซึ่งคลื่นสมองของเขาจะไม่เสถียรอยู่แล้ว คือ ตอนความถี่สูง เขาจะมีอาการกระวนกระวาย อยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ต้องลุกเดินไปมา หยิบนู่นนี่ หรือบางคนก็จะพูดมาก ตอนที่ความถี่ต่ำ เขาจะง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งพฤติกรรมทั้งสองช่วงเป็นสิงที่พ่อแม่ไม่พึงประสงค์และพยายามจะจัดการให้กลับสู่พฤติกรรมปกติที่พ่อแม่ต้องการ แต่พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจนอกจากจะจัดการไม่ได้แล้ว พลังความหงุดหงิดของพ่อแม่ที่จัดการกับพฤติกรรมของลูกไม่ได้ จะยิ่งถูกส่งต่อไปยังลูก ทำให้คลื่นสมองของลูกรวนหนักกว่าเดิม ที่อาละวาดร้องไห้โยเย ก็จะอาละวาดหนักกว่าเดิม ที่กำลังรู้สึกเสียใจ ก็จะเสียใจหนักกว่าเดิม

ดังนั้น เวลาพ่อแม่รับมือกับเด็กไฮเปอร์ สมาธิสั้น หรือแม้แต่เด็กปกติที่ทำพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ต้องการ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ พ่อแม่ต้องปรับพลังของตัวเองก่อน รู้สึกตัวให้ไวก่อนว่าตัวเองกำลังหงุดหงิด กำลังโมโห หรือ วิตกกังวล ฯลฯ จากนั้นค่อยๆ ปรับอารมณ์ของพ่อแม่ให้เป็นกลางก่อน แล้วจึงค่อยๆ จัดการกับพฤติกรรมของลูกด้วยความเมตตา เทคนิคง่ายๆ ในการปรับอารมณ์พ่อแม่ก่อนที่จะดุลูกคือ การสูดลมหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สัก 2-3 วินาที แล้วหายใจออกยาวๆ ทำซ้ำสัก 5-10 ครั้ง จนเห็นได้ชัดว่าอารมณ์พ่อแม่ดีขึ้น แล้วจึงค่อยๆ จัดการกับปัญหาต่างๆ ของลูกด้วยความรักและเมตตา พร้อมที่จะให้อภัยลูก แล้วลองสังเกตว่าลูกจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างง่ายดายและไม่ยืดเยื้อค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ลูกชั้นเตรียมอนุบาลไม่ยอมไปโรงเรียน

มีคุณแม่ท่านหนึ่งอินบ็อกซ์มาถามครูเคทในเพจ Kate Inspirer ว่า “… ลูกอยู่เตรียมอนุบาลไม่ยอมไปโรงเรียนค่ะ ทำไงดีคะ ตื่นเช้ามาโวยวายไม่ไปโรงเรียน ไม่อาบน้ำ ร้องโวยวาย แล้วมีกิริยาเอาแต่ใจตัวเองถ้าไม่พอใจเอามือ 2 ข้างถูไปมาอาละวาดค่ะ ขอคำแนะนำหน่อยค่ะ…”

การที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนมีหลายสาเหตุ เช่น อาจเกี่ยวข้องกับโรงเรียน หรือที่บ้าน หรืออาจเกิดจากปัจจัยของตัวเด็กเองก็ได้

สาเหตุที่เกี่ยวกับโรงเเรียน เช่น โดนครูดุ หรือขู่ โดนเพื่อนว่าหรือแกล้งหรือหัวเราะเยาะ หรืออาจกลัวสถานที่ เพราะอาจได้ยินเรื่องราวบางอย่าง อย่างเช่น เพื่อนบอกว่าตรงนั้นตรงนี้มีผี มีแมงมุม ฯลฯ ต้องค่อยๆ หลอกถามเวลาอารมณ์ดี ให้เขาเล่าให้ฟัง

สาเหตุที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน หรือมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นที่บ้านที่ทำให้เด็กมีความวิตกกังวล เช่น กลัวพ่อแม่เลิกกัน กลัวพ่อแม่ทะเลาะกัน กลัวพ่อแม่หายไป ฯลฯ หรือในกรณีที่พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบใกล้ชิดเกินไป ลูกอาจไม่อยากห่างพ่อแม่ จึงไม่อยากไปโรงเรียนก็ได้

สาเหตุที่เกี่ยวกับตัวเด็กเอง เช่น เด็กนอนไม่เต็มอิ่มแล้วถูกปลุกขึ้นมาเพื่อเตรียมตัวไปโรงเงรียน ทำให้รู้สึกหงุดหงิดโดนบังคับ จิตของเด็กอาจเชื่อมโยงความหงุดหงิดกับการไปโรงเรียนได้ จากที่ถามมา การที่เด็กอาละวาดถูมือไปมาเป็นสัญญาณของความเครียดและอึดอัดใจ และไม่รู้ว่าจะแสดงออกอย่างไร พ่อแม่ต้องสังเกตเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อย่าดุหรือบังคับ เพราะจะยิ่งเชื่อมโยงให้เด็กเกลียดโรงเรียนมากขึ้น

บางคนขาดทักษะทางสังคมไม่รู้จะเล่นกับเพื่อนอย่างไร จึงไม่อยากเล่นกับคนที่ไม่คุ้นเคย เพราะเติบโตมากับโลกเสมือนจริงในมือถือ ทำให้ขาดทักษะเกี่ยวกับมนุษย์ ไม่รู้จะคุยกับใครอย่างไร ยิ่งบ้านที่พ่อแม่สื่อสารทางเดียวคือสั่งกับสอน แต่ไม่เคยตั้งใจฟังลูกจริงๆ ยิ่งทำให้เด็กกลัวการพูดคุยกับคนมากขึ้น นอกจากนี้ลองสังเกตอาการและพฤติกรรมในด้านอื่นๆ ด้วยเช่น การรอคอย พฤติกรรมเมื่ออยู่กับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคย ภาษาและบทสนทนากับผู้อื่น (เด็กบางคนเริ่มบทสนทนาไม่เป็น เพราะส่วนใหญ่มีแต่ถูกถาม)

เด็กบางคนยังช่วยเหลือตัวเองไม่เก่งทำให้กังวลใจเวลาเข้าห้องน้ำหรือทำอะไรไม่ทันเพื่อน ขาดความเชื่อมั่นในการทำอะไรโดยที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย พ่อแม่ควรเตรียมความพร้อมของลูกด้านทักษะการดูแลตัวเองและทักษะทางสังคมก่อนที่จะเข้าโรงเรียน หากเด็กยังไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องเร่งรัด สมัยก่อนอนุบาลมีแค่ อ. 1-2 เท่านั้น ไม่มีเตรียมอนุบาล สมัยนี้เร่งเรียนกันมากไป กลายเป็นเด็กต้องเรียนเตรียมอนุบาล แล้วยังต้องเรียน อ. 1-3 หากที่บ้านมีผู้ปกครองเลี้ยงดูเด็กได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งเข้าโรงเรียนค่ะ

การสอนให้เด็กยุคใหม่มีทักษะสังคมกับคนตัวเป็นๆ และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เด็กที่ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกตัวเองมักเก็บกดอารมณ์สะสมเอาไว้ เมื่อโตขึ้นมักจะซึมเศร้า หรือไม่ก็กลายเป็นคนฉุนเฉียวค่ะ ควรสอนให้เด็กหัดสังเกตและเข้าใจความรู้สึกของตัวเองที่ปรากฏบนร่างกาย เช่น “หนูกำลังโกรธใช่มั้ย ดูสิตัวแข็งเลย (หรือ หน้าร้อนเลย หรือ หายใจแรงเลย)” “โถ… หนูกำลังกลัว ดูสิตัวสั่นเลย” ฯลฯ เมื่อเด็กเข้าความรู้สึกของตัวเองแล้ว ให้สอนวิธีตอบสนองอย่างเหมาะสม เช่น ถ้ารู้สึกกลัวหรือโกรธ ให้สูดหายใจเข้าลึกๆ ออกช้าๆ ยาวๆ ถ้ารู้สึกอาย ให้ยิ้มรับ เป็นต้น

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

กลัวว่าตัวเองเป็นโรคร้ายทั้งที่ไม่ได้เป็น

วันก่อนมีชายโสดวัย 30 กว่าเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคทด้วยอาการเครียดและวิตกกังวลหลังการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเขายังไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตน เขาจึงต้องพึ่งพาบริการทางเพศ ทุกครั้งที่เขามีเพศสัมพันธ์ เขาจะเกิดความวิตกกังวลว่าเขาจะติดเชื้อ HIV ทั้งๆ ที่เขามีการป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เขากังวลมากถึงกับต้องไปเจาะเลือดตรวจหลายครั้ง เพราะเขาศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จนมีความรู้มากพอเกี่ยวกับชุดตรวจแต่ละประเภทว่า บางชุดตรวจสามารถตรวจเจอหลังจากที่ได้รับเชื้อ 1-2 สัปดาห์ บางชุดตรวจสามารถตรวจเจอหลังจากที่ได้รับเชื้อ 3-4 สัปดาห์ ดังนั้นเขาจึงเวียนตรวจหาเชื้อตามคลินิกและโรงพยาบาลด้วยวิธีการต่างๆ เฉลี่ย 4-5 ครั้ง ต่อการมีเพศสัมพันธ์ 1 ครั้ง และไม่ว่าคุณหมอผู้อ่านผลตรวจและผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกคนจะยืนยันว่าเขาไม่ได้ติดเชื้ออย่างแน่นอน และโอกาสที่เขาจะติดเชื้อนั้นต่ำมาก เพราะเขามีการป้องกันอย่างดีอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังไม่สามารถวางใจ รู้สึกเข็ดขยาด และจะกังวลใจวนไปวนมาอีกนานเป็นปี กว่าที่เขาจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งใหม่ได้

ช่วงหนึ่งเขามีแฟนเป็นตัวเป็นตน ซึ่งแฟนของเขานั้นเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่นิสัยดี เรียบร้อยมาก ไม่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ แต่เมื่อเขาได้มีอะไรกับเธอเพียงครั้งเดียว อาการวิตกกังวลว่าเขาจะติดเชื้อ HIV ก็กลับมาอีก และได้ไปตรวจหาเชื้อหลายครั้งอีกเช่นเดิม เขาพยายามคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใจหนึ่งเขาก็เชื่อว่าไม่มีทางที่เขาจะติดเชื้อมาจากแฟนของเขาอย่างแน่นอน 99.99% แต่แล้วอีกใจหนึ่งก็คิดขึ้นมาว่าเนื่องจากแฟนของเขาเคยมีแฟนมาก่อนหน้าเขาคนหนึ่ง ดังนั้นมีโอกาส 0.01% ที่แฟนเขาจะติดเชื้อขึ้นมาก็ได้ ฯลฯ และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่าเสียดาย เขาไม่สามารถมีอะไรกับแฟนได้อีก เพราะความวิตกกังวลว่าจะติดเชื้อ ไม่นานเขาก็เลิกกับแฟน และเมื่อได้พูดคุยถึงเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้เขาวิตกจริต ก็พบว่าเขามีความย้ำคิดย้ำทำในเรื่องต่างๆ สูง หรือที่เรียกว่า OCD – obsessive compulsive disorder เช่น เขาได้รับข้อเสนองานใหม่ที่ดีมาก แต่ด้วยความกังวลเรื่องนู้นเรื่องนี้ทำให้เขาปฏิเสธงานใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น เขารู้สึกเครียดจนหัวมึนๆ ตึงๆ  คิดมากจนไม่สามารถมีสมาธิกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้

การขจัดความวิตกกังวลต่างๆ ที่วนเวียนในใจ ครูเคทได้แนะนำให้เขาอยู่กับหลักฐานความเป็นจริงในปัจจุบัน เช่น ความน่าเชื่อถือของแล็บและแพทย์ และไม่ว่าเขาจะไม่เชื่อผลตรวจที่ตรวจจนนับครั้งไม่ถ้วน ก็ให้ลองเชื่อตัวเองดู โดยการให้เขาสำรวจร่างกายส่วนต่างๆ ว่าเขารู้สึกว่ามีส่วนใดมีความผิดปกติบ้าง ทำให้เขาเริ่มเห็นว่าเขายังมีสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ แต่แล้วก็มีความคิดวิตกกังวลต่อไปอีกว่า อาจเป็นไปได้ว่าขณะนี้เขายังไม่เป็นอะไร แต่อาการของโรคอาจจะปรากฏในอนาคตก็ได้ ครูเคทจึงได้ให้เขาลองฝึกคิดต่อให้ถึงที่สุดว่า ถ้าเขาเป็นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาต้องทำอย่างไร ในที่สุดเขาก็พบว่าถ้าเป็นจริงๆ ก็ต้องรักษา อาจต้องทานยาไปตลอดชีวิต แต่เขาก็ยังดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปได้ แต่ขณะนี้เขาไม่ได้เป็น ส่วนอนาคตถ้าเป็นก็สามารถรับมือได้

ความวิตกกังวลลักษณะนี้เกิดจากความกลัวสิ่งที่ไม่รู้ กลัวสิ่งที่จะเกิดในอนาคต แม้เราจะพยายามหาข้อมูลและเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนว่าโอกาสที่ปัญหาที่กังวลอยู่จริงๆ นั้นมีความน่าจะเป็นต่ำมาก แต่คนที่คิดมากก็ยังคิดว่ามีโอกาสที่ปัญหาจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแทนที่จะเสียเวลาหาเหตุผลว่าจะเกิดหรือไม่เกิดปัญหา ให้ลองมองที่ทักษะและความสามารถของตัวเองในการแก้ไขปัญหา หากปัญหายังไม่เกิด ก็ไม่ต้องทำอะไร หากปัญหาเกิดก็แก้ไขไป มนุษย์มีทักษะในการแก้ไขปัญหาและการเอาตัวรอดติดตัวมาทุกคน และหากเราพยายามแก้ปัญหาเองแล้ว แต่ก็ยังแก้ไม่ได้ ก็ยังมีคนอื่นที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขให้ได้ หรือมีวิธีการแก้ไขปัญหาอีกมากมาย และหากไม่มีใครแก้ไขปัญหานั้นได้ ก็ให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหานั้นโดยไม่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ