Month: April 2023

รับมือกับเจ้านายขี้หงุดหงิด

มีพนักงานหญิงคนหนึ่งเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคท ว่าช่วงนี้รู้สึกจิตตกกับการทำงาน เพราะรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจเจ้านาย บางทีนายก็บอกว่าไว้ใจให้ทำงานอะไรไม่ได้สักอย่าง ทำงานให้เสร็จไปวันๆ ไม่ใส่ใจงาน ฯลฯ เธอทำงานเป็นมือขวาเจ้านายซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทด้วย แต่นายเป็นคนเรื่องเยอะ เช่น เธอเตรียมสไลด์ให้ เจ้านายก็บ่นว่ารูปแบบไม่สวย สีไม่ถูกต้อง ตัวอักษรเล็กไป สะกดผิด ฯลฯ เธอคิดว่าเธอเป็นคนตั้งใจและทุ่มเทให้กับการทำงานมาก ไปทำงานแต่เช้ากลับดึกทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ถ้ามีงานเธอก็ไปด้วยความเต็มใจ แต่ทำไมนายดูจะหงุดหงิดกับเธอมาก

ปัญหาเจ้านายกับลูกน้องในเคสนี้เกิดจากการมองคนละมุม ลองมามองมุมของเจ้านายก่อนนะคะ ในสภาวะตึงเครียดทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองอย่างในปัจจุบันนี้ เจ้านายคงจะมีความวิตกกังวลหลายด้าน ไหนจะหารายได้เข้าบริษัทให้ได้ตามเป้า เพื่อให้ครอบคลุมหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ และยังต้องดูแลพนักงานโดยพยายามรักษาไม่ทำให้ใครต้องตกงาน ความกังวลเหล่านี้ทำให้คนเป็นนายเกิดความเครียดแล้วไม่รู้จะจัดการกับความเครียดอย่างไร จึงกระแทกออกมาเป็นความหงุดหงิด โกรธ ตำหนิติเตียน และกล่าวโทษลูกน้อง ส่วนด้านลูกน้อง ก็เครียดในใจว่าบริษัทจะยังไปรอดหรือไม่ ตนจะตกงานไม่รู้ตัวหรือไม่ ฯลฯ จึงทำให้ลูกน้องมีโอกาสทำงานผิดพลาดตกหล่นขาดสมาธิในการทำงาน
คนที่มีความวิตกกังวลจะมีอาการครุ่นคิดวนเวียนอยู่ในใจทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ความไม่รู้ตัวนี่แหละค่ะที่ทำให้คนเราเกิดความเครียด และเมื่อเครียดมากขึ้น ก็เกิดอารมณ์หงุดหงิด สิ่งที่คนทำงานกังวลแบบไม่รู้ตัวมากที่สุดก็คือ กลัวทำไม่เสร็จ กลัวทำไม่ถูก กลัวทำไม่ดี เพราะคิดเอาว่าหากเราทำอะไรผิดพลาด ไม่สำเร็จ หรือไม่มีคุณภาพ ผลที่จะตามมาก็คือการถูกตำหนิติเตียน หรือถูกดูถูกจากคนอื่นๆ หรือแม้แต่ผิดหวังกับตัวเอง ดูถูกและตำหนิตัวเองว่าล้มเหลว การมองตัวเองในแง่ลบเกิดจากการเผลอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอ และมีแนวโน้มเห็นว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นอยู่บ่อยๆ

ในช่วงที่บรรยากาศในที่ทำงานมีความเครียด ทั้งเจ้านายและลูกน้องควรเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร เจ้านายเวลาสั่งงาน ควรสั่งให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะอะไร จะเอาไปทำอะไร เพื่อใคร เพื่อให้ลูกน้องได้เห็นภาพเดียวกัน ส่วนลูกน้องเวลารับคำสั่ง ก็ควรทวนความเข้าใจของตัวเองให้นายฟังสักรอบ เพื่อจะได้มั่นใจว่าเห็นตรงกัน และควรอธิบายแผนการทำงานของตนและเหตุผลที่ตัวเองจะทำอย่างนั้นให้นายได้รับทราบ เพื่อที่นายจะได้ช่วยดูกระบวนการทำงานถูกต้องแล้วหรือยัง ซึ่งจะช่วยทำให้นายคลายความกลัวผลงานจะออกมาผิดพลาด และความกลัวผลงานออกมาไม่มีคุณภาพได้ด้วย ระหว่างการทำงาน ลูกน้องควรมีการรายงานเจ้านายเป็นระยะๆ เพื่อให้เจ้านายคลายความกลัวงานไม่เสร็จ หรือเสร็จไม่ทันได้มาก ที่สำคัญการสื่อสารเพื่อช่วยให้นายคลายความวิตกกังวลยังส่งผลดีต่อลูกน้องด้วย เพราะทำให้ลูกน้องเข้าใจการทำงานและวางแผนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลูกน้องเองมีความเครียดน้อยลง ขาดความกังวลสงสัยทำให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น และเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ให้มองที่ความผิดพลาดและแก้ไขความผิดพลาด ไม่ใช่มองว่าใครผิดใครถูก และตำหนิตัวเองหรือผู้อื่น อย่างนี้ก็จะมีความสุขทั้งเจ้านายและลูกน้องค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ความเครียดของทายาทผู้ที่ประสบความสำเร็จ

คนที่เกิดมา มีพ่อแม่ที่เก่งและประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ เป็นไอดอล ดูน่าจะมีความสุข เพราะมีต้นทุนมาดี เติบโตมาพร้อมกับโอกาสในการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและการทำงานอย่างประสบความสำเร็จ โดยการสังเกตและซึมซับความรู้และประสบการณ์จากพ่อแม่มาเต็มๆ เรียกว่าความเก่งและความสำเร็จของเขานั้น แทบจะแทรกซึมอยู่ในดีเอ็นเอเลยก็ว่าได้

แต่กลายเป็นว่า มีคนที่มีพ่อแม่เก่งจำนวนหนึ่ง ที่เมื่อต้องเข้ามาสืบทอดกิจการของพ่อแม่ หรือเริ่มต้นทำงานในที่ต่างๆ กลับรู้สึกขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะคิดว่าคนอื่นจับตามองและคอยเปรียบเทียบเขากับพ่อแม่ของเขาอยู่เสมอว่าจะเก่งได้เท่าพ่อแม่หรือไม่ บางคนก็คิดว่าไม่มีใครฟังความคิดเห็นของเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่ในบริษัทที่คุ้นชินกับการบริหารของพ่อแม่ของเขาและเห็นเขามาตั้งแต่เด็กๆ บางคนก็คิดว่าคนอื่นคิดว่าเขาได้รับสิทธิพิเศษในองค์กรมากกว่าคนอื่น เพราะเป็นลูกผู้ใหญ่ และบางคนก็ไม่มี passion ในรับทอดกิจการจากพ่อแม่เลย เพราะใจอยากไปทำอย่างอื่น

ความเครียดของทายาทรุ่นต่อไปของพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จ เกิดจากการถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก หรือถูกบอกอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งเขาต้องรับทอดกิจการต่อจากพ่อแม่ ในด้านหนึ่งมีข้อดีที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาพร้อมเป้าหมายและความรับผิดชอบ แต่อีกมุมหนึ่งกลับกลายเป็นภาระที่หนักอึ้ง (ในความรู้สึกของเด็ก) ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกกลัวว่าถ้าหากตนเองล้มเหลว จะทำให้พ่อแม่เสียใจและไม่ภาคภูมิใจในตัวเขา บางคนไม่อยากจะล้มเหลว จึงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น เช่น ลูกนักธุรกิจแต่ไม่อยากทำธุรกิจของพ่อแม่ ก็อาจจะเปิดธุรกิจใหม่ของตัวเองที่แตกต่างจากธุรกิจของพ่อแม่ หรือประกอบอาชีพอื่นที่แตกต่างจากอาชีพของพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จ

ลูกหลานของผู้ที่ประสบความสำเร็จยังเกิดความเครียดจากคำพูดของคนรอบข้างที่พูดไปตามปกติว่า “หนูเก่งเหมือนคุณพ่อคุณแม่” “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” “คุณพ่อคุณแม่หนูเก่งมาก หนูต้องเก่งให้มากกว่าคุณพ่อคุณแม่นะ” ฯลฯ แต่ในความรู้สึกของเด็กจะรู้สึกว่าเขาถูกเปรียบเทียบกับพ่อแม่ของเขาและผู้คนคาดหวังว่าเขาต้องเก่งเท่าหรือเก่งมากกว่าพ่อแม่ของเขา ทำให้เขาต้องแบกความคาดหวังของผู้คนเอาไว้ตลอดเวลาไม่รู้ตัว

การจะเปลี่ยนความรู้สึกถูกเปรียบเทียบ และการแบกความคาดหวังจากผู้อื่นนั้น เราต้องหันกลับมามองตัวเองให้ชัดเจน และยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น ไม่ใช่อย่างที่พ่อแม่หรือผู้อื่นอยากให้เป็น แต่การยอมรับตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร มีนิสัยอย่างไร มีทักษะที่โดดเด่นอะไร ไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดชอบ เช่น ทายาทธุรกิจที่ไม่อยากรับทอดกิจการเลยไปเป็นหมอหรือศิลปิน ลองมองสถานการณ์และโอกาสให้กว้างและนำทักษะที่เป็นจุดแข็งของตนมาใช้ในการสืบทอดธุรกิจหรืองานการที่พ่อแม่สร้างฐานไว้ให้ และขณะเดียวกันก็สานฝันของตัวเองไปพร้อมกันด้วย

จะเห็นได้ว่าทายาทที่สืบทอดธุรกิจจากพ่อแม่ ที่มองเห็นจุดแข็งของตนเองและรู้จักวิธีการนำจุดแข็งนั้นมาใช้ในด้านต่างๆ คนเหล่านี้จะประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน ทั้งด้านการสืบทอดธุรกิจและการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ตนเองชอบ ส่วนทายาทที่ก้าวไม่ข้ามเรื่องการถูกเปรียบเทียบและความคาดหวังจากผู้อื่น ก็จะกลายเป็นคนที่ล้มเหลวซ้ำซาก สร้างปัญหา ไม่ทำอะไรจริงๆ จังๆ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปวันๆ แต่ความสุขที่แท้จริงอันเกิดจากความภาคภูมิใจในตัวเองนั้นไม่มี

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่เองก็ต้องเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่พ่อแม่สร้างมาด้วยความภาคภูมิใจนั้น เป็นความภูมิใจของพ่อแม่ ไม่ใช่ของลูก ในกรณีที่ลูกไม่ต้องการสืบทอดความสำเร็จนั้น พ่อแม่ต้องเคารพในความต้องการของลูก เพราะลูกเองมีสิทธิในการดำเนินชีวิตและสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวของเขาเองเช่นกัน

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม ซึมเศร้า panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

ชีวิตการแข่งขันและรักษาตำแหน่งผู้นำทำซึมเศร้า

มีคุณผู้อ่านท่านหนึ่งเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคทด้วยปัญหาว่า ช่วงนี้ไม่รู้สึกมีความสุขกับสิ่งต่างๆ ที่เคยชอบทำ อย่างเช่น เมื่อก่อนชอบดูซีรีส์เกาหลีมาก ดูได้ทั้งวันทั้งคืนแบบรวดเดียวจบ แต่ช่วงนี้ดูอะไรก็รู้สึกเบื่อไปหมด ดูแบบไม่ตั้งใจดูใจลอย นอกจากนี้ เจ้าตัวบอกว่าเป็นคนชอบนอนมาก เสาร์อาทิตย์สามารถนอนได้ทั้งวัน เพราะเธอขยันทำงานทุ่มเทให้งานมาก พอมีโอกาสพัก จึงชอบนอนเพื่อชาร์จแบตให้ตัวเอง แต่ตอนนี้กลับรู้สึกเบื่อแม้กระทั่งการนอน จนคิดว่าไม่รู้จะนอนทำไม ตื่นดีกว่า นอกจากนี้ ปกติเป็นคนที่ติดเพื่อนมาก อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องออกไปหาเพื่อนตลอด แต่ช่วงนี้รู้สึกเบื่อมาก ไม่อยากออกไปนอกบ้าน ไม่อยากเจอเพื่อน

ปกติเธอเป็นคนขยันทำงาน ทำงานหนัก มีความเชื่อว่าถ้าเธอตั้งใจทำเต็มที่แล้วไม่ควรมีอะไรผิดพลาด จึงทำให้เธอเป็นคนที่มุ่งมั่นพุ่งไปข้างหน้าอย่างมาก มุ่งแต่เป้าหมายไม่สนใจมองสองข้างทางที่นำไปสู่จุดหมายนั้น ถ้าหากมีอะไรผิดพลาด เธอจะรู้สึกล้มเหลว เธอบอกว่าบางครั้งรู้สึกทรมานและเหนื่อยมากในการทำงานให้สำเร็จ แต่พอทำสำเร็จแล้ว แทนที่จะรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจในตัวเอง เธอกลับรู้สึกโล่งใจ และรู้สึกว่าเธอทำถูกแล้ว เธอตัดสินใจได้ถูกแล้ว เธอไม่เคยหัวใจพองโตกับความสำเร็จของเธอเลย คนปกติเมื่อรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเองมักจะมีความรู้สึกหัวใจพองโตหรือตัวพองนั่นเอง แต่สำหรับเธอจะรู้สึกอย่างนั้น ก็ต่อเมื่อมีใครมาทำอะรไรดีๆ ให้เธอ หรือแสดงความสนใจ เป็นห่วงเป็นใยเธอ หรือสนใจความรู้สึกของเธอ เช่น เวลาเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานถามว่า เหนื่อยมั้ย หรือ ซื้อขนมมาฝาก เธอจึงจะรู้สึกดี หัวใจพองโต

เธอเติบโตมาในครอบครัวที่สอนให้ทำงานหนัก มีความมุ่งมั่น มานะพยายาม เมื่อทำอะไรดีแล้วก็ให้แข่งขันกับตัวเองหรือพัฒนาให้ดีขึ้นตลอดเวลา พ่อแม่ไม่เคยชมเธอตรงๆ แต่มักจะไปเล่าให้ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงฟัง และเธอมักจะได้ยินมาจากคนอื่นว่าพ่อแม่ชมเธอ เธอเรียนจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง พ่อแม่ก็ไม่ชมตรงๆ แต่ให้เป็นของรางวัลแทน เธอไม่เคยชมตัวเอง และเมื่อผิดพลาดหรือล้มเหลวเธอจะโมโหตัวเอง ไม่ให้อภัยตัวเอง เธอชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเสมอ และบอกตัวเองว่าต้องทำให้ดีขึ้นหรือดีกว่าคนอื่น เธอมีความเชื่อว่าการทำอย่างนี้จะเป็นการพัฒนาตัวเเธอเองให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นได้ว่าเธอเริ่มมีอารมณ์ซึมเศร้าเพราะผลักดันเพื่อพิสูจน์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำสำเร็จแล้วเกิดความดีใจอยู่เพียงระยะหนึ่ง แล้วก็จางไป จิตของเธอจะมุ่งอยู่ที่สิ่งนอกตัวเท่านั้น ไม่เคยให้เวลาในการอยู่กับตัวเอง เข้าใจตัวเอง และยอมรับตัวเองโดยไม่มีเงื่อนไข จึงทำให้เธอมีสภาวะพร่องความสุขหรือสุขไม่ถึงที่สุดและไม่ยั่งยืนนั่นเอง หากคุณผู้อ่านเป็นอย่างนี้ ควรฝึกชื่นชมตัวเองทุกวัน เริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มองเห็นความน่ารัก ความเป็นเด็ก อารมณ์ขันของตัวเองบ้าง เมื่อพลาด ให้มองตัวเองอย่างมีเมตตา ค่อยๆ ซึมซับความสุขที่ได้จากการเข้าใจตัวเองทุกๆ วัน (สุขทางตรง) ซึ่งเป็นความสุขที่ยั่งยืนมากกว่าความสุขจากการที่ผู้อื่นยอมรับหรือชื่นชม (สุขทางอ้อม) ค่ะ และหากมีอารมณ์ซึมเศร้า ไม่ควรมองข้าม ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา อย่าปล่อยไว้โดยคิดว่าเดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง เพราะบางทีอะไรที่เราเก็บเอาไว้มากมายมันอาจจะล้นออกมาในอนาคตก็ได้

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม ซึมเศร้า panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ

บาดแผลทางใจที่ส่งผลต่อสุขภาพกาย

ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนเอาใจใส่สุขภาพกายกันมากขึ้น ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการล้างพิษด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย แต่ผู้คนสมัยนี้กลับดูเหมือนว่าจะมีความเจ็บป่วยทางกายมากยิ่งขึ้น เรามักพบว่าอายุของผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง และเนื้องอก จะมีอายุน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ คนหนุ่มสาวเริ่มมีปัญหาปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือ office syndrome และปวดศีรษะไมเกรนกันจนเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ก็ดูแลสุขภาพของตัวเองดี

จากการที่ครูเคทได้ให้คำปรึกษา จิตบำบัด และการฝึกอบรมเรื่องการจัดการความเครียดให้กับผู้คนในองค์กรจำนวนมาก ได้พบความเชื่อมโยงที่น่าสนใจคือ คนที่มีปัญหาปวดศีรษะไมเกรน มักเป็นคนที่ชอบคิดมาก คิดวนเวียน ย้ำคิดย้ำทำ และวิตกกังวลกลัวไม่ดี ไม่ถูก ฯลฯ ส่วนคนที่ปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง มักเป็นคนที่นิสัยเป็นพ่อพระแม่พระ แบกรับภาระของคนอื่นๆ ไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกในครอบครัวหรือคนสำคัญในชีวิต และคนที่มีอาการปวดเอวหลังร่วมด้วย มักจะเป็นคนที่แบกภาระทางการเงินของครอบครัว หรือวิตกกังวลเรื่องปัญหาการเงิน คนที่มีปัญหาปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน มักเป็นคนที่มีความกลัวหรือความวิตกกังวลลึกๆ อยู่ในใจสูง แต่มักไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวดีว่ากลุ้มเรื่องอะไร แต่ดูเหมือนว่าจะหาทางออกไม่ได้ จึงจำยอมทนอยู่ในสภาวะที่เป็นทุกข์นั้น ส่วนคนที่มีปัญหาความดันโลหิต เวลาเครียดมักแน่นหน้าอก มักจะเป็นคนที่ไม่ปล่อยวางความผิดหวัง เสียใจ น้อยใจ หรือแม้แต่ความโกรธเกลียดแค้นใจ

เมื่อได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อหาคำอธิบาย ก็ได้พบงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีผู้คนให้ความสนใจสูงมากของเฟลิติและอันดา (1998) ที่พบว่าประสบการณ์เลวร้ายหรือชอกช้ำในวัยเด็ก เช่น การถูกดุด่าตำหนิ หรือถูกเปรียบเทียบ การถูกทอดทิ้ง ห่างเหินจากพ่อแม่ พ่อแม่ทะเลาะตบตีกัน พ่อแม่เสียชีวิต ไปจนถึงการถูกทุบตีทารุณกรรม ฯลฯ ล้วนส่งผลต่อปัญหาทางกายของคนเราเมื่อโตขึ้น โดยมีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ปวดศีรษะ โรคลูปัส มะเร็ง ซึมเศร้า มากกว่าคนทั่วไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนเด็กที่พ่อแม่หย่าร้างมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตในอนาคตเพิ่มขึ้นสองเท่า ทั้งนี้เพราะความเครียดสะสมและคาดเดาไม่ได้ในวัยเด็กส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับชีวเคมีของเซลล์ในร่างกาย และแม้แต่ดีเอ็นเอของเรา และเมื่อความไม่สมดุลถึงจุดที่ล้น เซลล์ต่างๆ จึงพยายามปรับตัวและแสดงความผิดปกติไม่สมดุลนั้นออกมาทางกาย นอกจากนี้ความไม่สมดุลระดับดีเอ็นเอของคนเรานั้นสามารถส่งต่อมายังรุ่นลูกหลานได้ ดังจะเห็นได้จากหลายๆ โรคที่ส่งต่อทางพันธุกรรมได้ เช่น เบาหวาน มะเร็ง รวมทั้งโรคทางจิตบางอย่าง เช่น ซึมเศร้า ไบโพลาร์ จิตเภท ฯลฯ

ดังนั้นหากมนุษย์ต้องการมีชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการได้รับการเลี้ยงดูที่สมดุลทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ และเมื่อเติบใหญ่และเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยทางกาย ก็อย่ามองข้ามรากของปัญหาทางกายที่อาจเกิดจากปัญหาทางใจที่ถูกสะสมมาตั้งแต่วัยเด็กด้วยนะคะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม ซึมเศร้า panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ